ปตท.ถอดบทเรียน Aspern Smart City ของออสเตรีย ต่อยอด Smart City ในไทย

2232
- Advertisment-

ปตท.พาคณะสื่อมวลชนไทยดูงานโครงการ Aspern Smart City ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย หวังนำรูปแบบและจุดเด่นมาปรับใช้กับการลงทุนSmart City ที่ EECi วังจันทร์วัลเลย์และ สถานีกลางบางซื่อ ที่จะช่วยให้เกิดชุมชนใหม่ที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 24มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะของผู้บริหารปตท.นำโดยนายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) ,นาย กฤษณ์ อิ่มแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กำกับดูแลองค์กรและกิจการสัมพันธ์  และนางหงษ์ศรี เจริญวราวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ปตท. นำสื่อมวลชนจากประเทศไทย ศึกษาดูงานในพื้นที่จริงของ Aspern Smart City และร่วมรับฟังการบรรยายจากตัวแทนของUrban Innovation Vienna ,และ Wien3420 Aspern Development AG ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการ

ผู้บริหารปตท.และคณะสื่อมวลชนร่วมรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับโครงการAspern Smart City

Aspern Smart City  มีขนาดพื้นที่ประมาณ 1,500 ไร่ อยู่ห่างจากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ประมาณ 15 กิโลเมตร โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเขตเมืองใหม่ ที่จะดึงคนที่ทำงานเกี่ยวกับการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เข้ามาพักอาศัยและทำงานโดยที่มีการเตรียมระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน  อาคารที่อยู่อาศัย และอาคารเชิงพาณิชย์ รองรับมากกว่า 20,000 คน และอัตราการจ้างงานกว่า20,000 ตำแหน่ง

- Advertisment -
แผนที่ตั้งAspern Smart Cityห่างจากกรุงเวียนนา 15กม.

ทั้งนี้การที่คนซึ่งเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานอยู่ในชุมชนใหม่ จะช่วยลดการเดินทางลงจากเดิม โดยที่มีระบบขนส่งมวลชนที่ใช้ไฟฟ้า รถจักรยานไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่พร้อมรองรับ โดยที่การใช้ไฟฟ้าจากเมืองอัจฉริยะแห่งนี้ จะผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ที่่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์  ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย และเชื้อเพลิงขยะ  ให้ได้มากที่สุด

ภาพจำลอง โครงการAspern Smart City

Aspern Smart City นั้นเริ่มพัฒนาโครงการมาตั้งแต่ปี 2550  ไปจนถึงปี 2572 ซึ่งปัจจุบันมีผู้คนเริ่มทะยอยเข้ามาอยู่อาศัยบ้างแล้ว แต่ก็ยังคงมีบางส่วนของอาคารที่อยู่อาศัย และสำนักงานที่ อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง เพื่อให้บริการทางธุรกิจ วิทยาศาสตร์ การวิจัย  การศึกษา พื้นที่สันทนาการ และสาธารณประโยชน์

จุดเด่นของ Aspern Smart City คือแนวคิดในการพัฒนาที่เรียกว่า Transit-Orientated Development คือเป็นการออกแบบพื้นที่การใช้สอยและระบบคมนาคม   ที่มีการจัดสรรพื้นที่แบบ Mixeduse Quarters โดยการแบ่งให้มีสัดส่วนพื้นที่สันทนาการและพื้นที่สาธารณะอย่างละครึ่งในขณะที่ด้านนวัตกรรม มีการสร้างศูนย์ Smart City Research นำโดยบริษัท ซีเมนส์

อย่างไรก็ตามจุดเด่นหนึ่งที่ผู้บริหารปตท.ให้ความสนใจมากคือ เมืองอัฉริยะแห่งนี้ สามารถก่อสร้างอาคารโดยใช้ไม้โตเร็ว เป็นหลัก ยกเว้นเสาอาคารขนาดใหญ่ที่ยังเป็นซีเมนต์ ที่จะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า อาคารที่สร้างจากซีเมนต์ล้วนทั้งหมด เพราะในขั้นตอนของการผลิตมีส่วนที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่สูง

วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท.(คนที่สองจากซ้าย)

นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การมาดูงานที่Aspern Smart City ครั้งนี้ ทำให้ปตท.มองเห็นภาพของเมืองอัจฉริยะที่จะไปเริ่มทำทั้งที่ EECiวังจันทร์วัลเลย์ และที่จะมีความร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ในการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ ให้เป็นต้นแบบของSmart City ที่ปตท.มุ่งหวังจะให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การนำรถยนต์ไฟฟ้าและระบบแบตเตอรี่มาใช้ หรือมีการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆที่จะช่วยให้เกิดความสะดวกสบายมาใช้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามสำหรับในส่วนของพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ที่จะพัฒนาให้เป็น Smart City ยังมีบางจุดที่ปตท.เห็นว่าจะต้องนำไปปรับใช้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับวิถีชีวิตของทั้งนักวิจัยและครอบครัวของเขา เช่นการมี Community Mall มีสถานที่สันทนาการ  เพื่อให้คนที่อยู่ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ความบันเทิง  ผ่อนคลาย  ไม่ใช่เป็นนักวิจัยที่ทำงานเสมือนหุ่นยนต์

Advertisment