6 เรื่องเด่นพลังงานที่ต้องติดตามในปี 2567

3930
- Advertisment-

ในปีมังกรทอง 2567 มีเรื่องสำคัญด้านพลังงาน ที่ต้องติดตาม เพราะมีความสำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) หยิบยกมานำเสนอ 6 เรื่อง ดังนี้

1.แผนพลังงานชาติ ที่ล่าช้ามากว่า 2 ปี

จับตา พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กับการผลักดันแผนพลังงานชาติในปี 2567

ผ่านมา 2 ปีกว่าแล้วที่ กระทรวงพลังงานเปิดรับฟังความเห็นแผนพลังงานชาติ 2022 เมื่อเดือน ก.ย. 2564  และมีแผนจะเริ่มใช้ในปี 2566 แต่ท้ายที่สุดแผนดังกล่าวก็ยังไม่ได้ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) จนเมื่อเกิดการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่จาก รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ มาเป็นรัฐบาลเศรษฐา ส่งผลให้แผนดังกล่าวจะต้องนำกลับมาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คนใหม่อีกครั้ง

- Advertisment -

สาระสำคัญที่ต้องมีแผนพลังงานชาติคือ แผนพลังงานชาติจะช่วยรวบรวมแผนพลังงานทั้ง 5 ด้านไว้อยู่ภายใต้แผนเดียวกัน ช่วยให้การวางแผนพลังงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ โดยกรอบของแผนพลังงานชาติจะมุ่งเน้นไปสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070 ซึ่งเป็นไปตามทิศทางพลังงานโลกที่มุ่งเน้นการลดโลกร้อน ซึ่งแผนฯ นี้จะทำให้ไทยไม่ตกขบวนเทรนด์ใหม่ของโลก 

แผนพลังงาน 5 ด้านที่รวมในแผนพลังงานชาติ ได้แก่  

 1. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP

 2. แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ หรือ Gas Plan

 3. แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP

 4. แผนอนุรักษ์พลังงาน หรือ EEP

 5. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ Oil Plan

โดยการดำเนินการ แผนพลังงานชาติ ในปี 2567  อาจต้องปรับชื่อที่เรียกใหม่ จากแผนพลังงานชาติ 2022 เป็นแผนพลังงานชาติ 2024 แทน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด ซึ่งไฮไลท์สำคัญยังคงอยู่ที่การจัดทำแผนไฟฟ้าประเทศ ซึ่งอาจจะต้องเปลี่ยนชื่อมาเป็น แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2024 แทนเช่นกัน โดยแผนนี้จะมุ่งเน้นเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรูปแบบต่างๆ และปรับลดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลภายใต้ PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่  1 (rev.1) ในช่วง 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2564-2573) ลงตามความเหมาะสม

โดยระหว่างที่รอแผน PDP ใหม่ดังกล่าว ปัจจุบันไทยยังใช้แผน PDP 2018 rev.1 ที่กำหนดใช้ระหว่าง พ.ศ. 2561-2580 โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าในระบบ 3 การไฟฟ้าในปลายปี 2580 รวม 77,211 เมกะวัตต์ ซึ่งแบ่งเป็น 1.กำลังผลิตไฟฟ้า ณ สิ้นปี 2560 เท่ากับ 46,090 เมกะวัตต์ 2.กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ช่วงปี 2561-2580 รวม 56,431 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากพลังงานทดแทน 18,833 เมกะวัตต์ และ 3. มีกำลังไฟฟ้าที่ถูกปลดออกจากโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดอายุ ระหว่างปี 2561-2580 เท่ากับ 25,310 เมกะวัตต์ โดยค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดแผนอยู่ที่ 3.6366 บาทต่อหน่วย

แผนพลังงานชาติที่ยืดเยื้อมากว่า 2 ปี ไม่ส่งผลดีกับประเทศ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายด้านต่างๆ ของชาติ โดยเฉพาะในด้านความมั่นคงพลังงาน รวมถึงภาคเอกชนยังต้องการความชัดเจนด้านพลังงานเช่นกัน เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน ดังนั้นในปี 2567 นี้ กระทรวงพลังงานคงต้องเร่งจัดทำแผนดังกล่าวเสนอ กพช. และ ครม. พิจารณาเห็นชอบ เพื่อให้เกิดความชัดเจนด้านนโยบายและนำไปสู่การเดินหน้าตามแผนโดยเร็วต่อไป  ซึ่งมีกระแสข่าวว่าภายในไตรมาสแรกของปี 2567 การจัดทำแผนทั้งหมดจะมีความชัดเจน

2. ขยายเวลาชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ

ผลผลิตปาล์มน้ำมัน นำมาผลิตเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในน้ำมันไบโอดีเซล

ปัจจุบัน “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ยังสามารถนำเงินไปอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล เพื่อให้ราคาจำหน่ายไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรได้ แต่ในส่วนของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ทุกชนิด กองทุนน้ำมันฯ ไม่ได้ชดเชยราคาแล้ว และยังเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ส่งเข้ากองทุนฯ แตกต่างกันไปตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) กำหนด

แต่กฎหมายได้กำหนดให้ ณ วันที่ 24 ก.ย. 2567 เป็นวันสุดท้ายที่ กองทุนฯ จะสามารถนำเงินไปชดเชยราคาน้ำมันทั้งแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลได้

เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องยกเลิกการชดเชยราคาสำหรับเชื้อเพลิงชีวภาพทุกชนิด (หรือ น้ำมันที่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์จากพืช เช่น น้ำมันปาล์ม และ เอทานอล) มาตั้งแต่ 24 ก.ย. 2565 แต่ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนดให้สามารถขอขยายเวลาได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ปี ที่ผ่านมาสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ขอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายเวลาไปแล้ว 1 ครั้ง เพื่อให้สามารถนำเงินกองทุนน้ำมันไปชดเชยราคาดีเซลต่อไปได้ และจะสิ้นสุดการขอขยายเวลาในวันที่ 24 ก.ย. 2567 นี้

ดังนั้นในปี 2567 กระทรวงพลังงานจะต้องพิจารณาว่าจะเลิกอุ้มราคาดีเซลและปล่อยให้เป็นไปตามกลไกราคาตลาดโลก หรือ จะขอขยายเวลาไปอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่กฎหมายจะบังคับให้กระทรวงพลังงานต้องยกเลิกการอุ้มราคาน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ทั้งหมดอย่างถาวร นับตั้งแต่ 24 ก.ย. 2569 เป็นต้นไป

แน่นอนว่าหากยกเลิกอุ้มราคาดีเซล ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำมันดีเซล โดยเฉพาะภาคขนส่งของประเทศ และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจประเทศได้ แต่ขณะเดียวกันกฎหมายก็บีบให้กระทรวงพลังงานต้องยกเลิกการอุ้มราคาน้ำมันจากเชื้อเพลิงชีวภาพในอนาคตแน่นอน ฉะนั้นเหลือโอกาสอีก 1 ครั้งที่กระทรวงพลังงานจะขอขยายเวลาดังกล่าว เพื่อให้มีเวลาในการวางแผนแก้ปัญหาระยะยาวสำหรับราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ แต่ท้ายที่สุดกระทรวงพลังงานก็เลี่ยงไม่พ้นที่ต้องกำหนดแนวทางเพื่อเดินไปสู่การยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันจากเชื้อเพลิงชีวภาพในอนาคต

ฉะนั้นเบื้องต้นในช่วงต้นปี 2567 จะได้ทราบว่ากระทรวงพลังงานจะต้องตัดสินใจเลือกทางใดระหว่าง ปล่อยดีเซลลอยตัว หรือ พยุงราคาไว้อีก 1 ครั้ง ในเวลา 2 ปีต่อไป

3. การเจรจาปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา ( Overlapping Claims Area -OCA )

รัฐบาลเศรษฐา ชูเรื่อง OCA ไทย-กัมพูชา เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แต่การดำเนินการในปี 2566  เรื่องดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งกระทรวงพลังงานมีความหวังว่าในปี 2567 เรื่อง OCA น่าจะมีความชัดเจนและเป็นไปในทิศทางที่ดี เพราะหากสามารถที่จะเจรจาให้ได้ข้อยุติเพื่อเริ่มต้นกระบวนการเข้าไปสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ จะส่งผลดีต่อความมั่นคงด้านพลังงานของทั้งไทยและกัมพูชา และการแก้ไขปัญหาพลังงานราคาแพงได้ในระยะยาว

อย่างไรก็ตามมีข้อเสนอจาก รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่เสนอทางออกในการเจรจา ว่าควรเดินหน้าเจรจาเฉพาะเรื่องของการเข้าไปใช้ประโยชน์ด้านพลังงานเท่านั้น แต่ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดน  ซึ่งสามารถจัดตั้งเป็นองค์กรหรือบริษัทร่วมลงทุนที่ผ่านความเห็นชอบจากทั้งรัฐบาลไทยและกัมพูชา เพื่อเข้าไปดำเนินการได้  โดยนายพีระพันธุ์ย้ำว่าการนำเรื่องการเจรจาเพื่อแบ่งเขตแดนไปผูกติดกับการใช้ประโยชน์เรื่องพลังงานที่อยู่ใต้ดิน จะไม่มีทางประสบความสำเร็จ    โดยต้องติดตามท่าทีของนายกรัฐมนตรีว่าจะมอบบทบาทสำคัญให้รัฐมนตรีพลังงานเป็นหลักในการเจรจาเรื่องดังกล่าวหรือไม่

ที่ผ่านมาการเจรจา OCA ไทย- กัมพูชา ดำเนินการภายใต้กรอบเอ็มโอยู 2544 โดยปัญหาของพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น เกิดขึ้นจากการที่กัมพูชาและไทยต่างอ้างสิทธิเขตแดนทางทะเลที่ล้ำเข้ามาทับเส้นของอีกฝ่าย ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันกว่า 26,000 ตร.กม. ซึ่งเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น สิทธิสัมปทานที่ทั้งไทยและกัมพูชาจะให้กับบริษัทเอกชนด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จึงยังไม่มีใครสามารถเข้าไปดำเนินกิจกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้

4. แต่งตั้งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจทั้ง  กฟผ. และ ปตท.

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นรัฐวิสาหกิจที่สำคัญในสังกัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งในปี 2567 นี้ จะต้องมีการคัดสรรผู้บริหารสูงสุดของทั้งสององค์กรเกิดขึ้น เนื่องจากผู้บริหารคนเดิมจะครบวาระงานแล้ว

โดยในส่วนของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นั้น นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ในเดือน พ.ค. 2567 หลังจากเข้ามารับตำแหน่งในเดือน พ.ค. 2563 และขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างประกาศเปิดรับสมัครบุคคลเพื่อรับการคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่ง “ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)” ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2566- 3 ม.ค. 2567 นี้ จากนั้นจะดำเนินการสรรหาตามกระบวนการต่อไป

ในส่วนของ กฟผ. นั้น นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 15 ได้ครบวาระไปตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. 2566 แล้ว แต่เนื่องจากกระบวนการแต่งตั้งเกิดความล่าช้า ส่งผลให้ต้องกลับไปสู่กระบวนการพิจารณาตำแหน่งดังกล่าวกันต่อในปี 2567 นี้  ซึ่งที่ผ่านมา บอร์ด กฟผ. ชุดเดิมได้คัดสรรและเลือกให้  นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ขึ้นเป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ (คนที่ 16) แต่ยังไม่ได้เสนอรายชื่อต่อ ครม. จนเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล  

ดังนั้นตามขั้นตอนต่อจากนี้ คงต้องรอให้มีการตั้ง บอร์ด กฟผ. ชุดใหม่เสร็จก่อน เพื่อที่จะมาพิจารณาคุณสมบัติของ นายเทพรัตน์ อีกครั้ง หรืออาจจะต้องเริ่มต้นกระบวนการสรรหากันใหม่ ก็ขึ้นกับบอร์ด กฟผ. ชุดใหม่ จากนั้นเมื่อได้รายชื่อผู้ที่จะมาเป็น ผู้ว่าการ กฟผ. แล้ว จึงจะส่งเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำเสนอต่อที่ประชุม ครม.อนุมัติต่อไป

ความล่าช้าในการแต่งตั้งตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. ซึ่งถือว่าล่าช้าที่สุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่มีการตั้งผู้ว่าการ กฟผ.มาแล้ว 15 คน ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการงานในองค์กร กฟผ.เพราะยังไม่สามารถที่จะแต่งตั้งตำแหน่งระดับรองผู้ว่าการอีก 5 ตำแหน่ง ที่เกษียณอายุไปตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2566 ได้ ในขณะที่ กฟผ. มีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน จากการที่ต้องรับภาระค่าไฟฟ้าแทนประชาชนไปก่อน จนคาดว่าจะมียอดหนี้สะสมสูงถึง 137,000 ล้านบาท ในปี 2567 หากรัฐไม่มีมาตรการอื่นใดมาช่วยเหลือสภาพคล่องของ กฟผ.

5. แก้ไขปัญหากองทุนน้ำมันฯ ติดลบหนัก

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ถังแตกมากว่า 2 ปี โดยล่าสุดฐานะกองทุนน้ำมันฯ ที่รายงานโดย สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ณ วันที่ 17 ธ.ค. 2566 กองทุนฯ อยู่ในสภาวะเงินติดลบ 78,680 ล้านบาท ซึ่งมาจากการนำเงินไปชดเชยราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ทำให้บัญชีน้ำมันติดลบอยู่ 32,569 ล้านบาท และตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ไม่ให้เกิน 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ทำให้บัญชี LPG ติดลบ 46,111 ล้านบาท โดยกองทุนฯ ได้ทำเรื่องกู้เงินไว้ 1.1 แสนล้านบาท จากวงเงินรวม 1.5 แสนล้านบาท

และในปี 2567 นี้ กองทุนน้ำมันฯ ก็ยังต้องแบกภาระดอกเบี้ยเงินกู้ ที่กู้ยืมมาตลอดปี 2566 ที่ต้องทยอยใช้คืน ซึ่ง สกนช. เคยชี้แจงว่าอาจต้องใช้เวลา 3-5 ปีกว่าจะทำให้บัญชีกองทุนฯ กลับมาเป็นบวกได้ ขณะที่ราคาน้ำมันโลกยังอยู่ในความผันผวน และคาดเดากับสถานการณ์โลกไม่ได้ ซึ่งหากมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันโลกให้ปรับสูงขึ้นเกิน 100-120 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล กองทุนฯ ก็จะต้องเข้าไปรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันทันที เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจนเกินไป ดังนั้นแม้กองทุนฯ จะอยู่ในสถานะถังแตก แต่กองทุนฯ ก็ยังต้องดูแลราคาน้ำมันและ LPG ในประเทศต่อ ด้วยการบริหารงานจากฝ่ายนโยบาย

ผลกระทบจากการที่รัฐเข้าไปอุ้มราคาดีเซลและ LPG เป็นเวลานาน ทำให้โครงสร้างการใช้น้ำมันมีความบิดเบือน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อดุลการค้าของประเทศ เพราะน้ำมันเป็นสินค้าที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยน้ำมันดิบที่ผลิตได้จากแหล่งในประเทศ มีสัดส่วนไม่ถึง15% ของความต้องการใช้ทั้งหมด

6. น้ำมันมาตรฐาน ยูโร 5 ทุกปั๊ม  ลดประเภทน้ำมันดีเซล ลงเหลือเพียง B7 และ B20

IRPC เป็นหนึ่งในโรงกลั่นน้ำมันที่มีความพร้อมในการผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 เพื่อจำหน่ายให้กับปั๊มน้ำมัน

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เป็นปัญหาสำคัญของไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่กระแสลมนิ่ง ทำให้ฝุ่น PM 2.5 รวมตัวกันหนาแน่น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพปอดและระบบทางเดินหายใจคนไทยเป็นอย่างมาก รัฐบาลสมัย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหามลพิษ PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562

โดย ครม. ได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งกำหนดมาตรการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) จึงได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดมาตรฐานไอเสียรถยนต์ใหม่เป็นระดับยูโร 5 และยูโร 6 และมอบให้กระทรวงพลังงาน โดยกรมธุรกิจพลังงานบังคับใช้น้ำมันยูโร 5 (น้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยุโรป 5) ที่มีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm 

ทั้งนี้กรมธุรกิจพลังงานกำหนดให้ค่ายน้ำมันทุกแห่งต้องเริ่มจำหน่ายน้ำมันยูโร 5 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป ส่งผลให้โรงกลั่นน้ำมันได้เตรียมความพร้อมกันมาตลอดปี 2566  และส่งสัญญาณจะเริ่มจำหน่ายน้ำมันยูโร 5 กันในปี 2567 นี้  อย่างไรก็ตามกรมธุรกิจพลังงานยังให้เวลาสถานีบริการน้ำมันทั้งประเทศที่มีกว่า 2.8 หมื่นแห่ง ปรับเปลี่ยนเป็นน้ำมันยูโร 5 โดยในเขตกรุงเทพฯ คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 เดือนจึงจะเปลี่ยนได้หมด และภาพรวมภายใน 3-4 เดือน ทุกปั๊มทั่วประเทศจะสามารถเปลี่ยนมาจำหน่ายน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 ได้ทั้งหมด

นอกจากนี้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป การจำหน่ายน้ำมันดีเซลในประเทศจะเหลือเพียง 2 ชนิด คือ น้ำมันดีเซล B7 (น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 7% ในทุกลิตร) ซึ่งจะเป็นน้ำมันดีเซลหลักในการจำหน่าย และน้ำมันดีเซล B20 (น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 20% ในทุกลิตร) ซึ่งจะเป็นน้ำมันทางเลือกในการจำหน่าย เพื่อลดชนิดการจำหน่ายน้ำมันในประเทศลง ซึ่งดีต่อทั้งผู้จำหน่ายที่ไม่ต้องลงทุนถังเก็บน้ำมันมากนัก และดีต่อผู้บริโภคที่จะลดความสับสนจากการมีชนิดน้ำมันมากเกินไป

ดังนั้นในปี 2567 นี้ จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำมันในสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศอย่างแน่นอน ซึ่งกรมธุรกิจพลังงานจะทำหน้าที่สอดส่องดูแล ให้น้ำมันในทุกปั๊มกลายเป็นมาตรฐานยูโร 5 และชนิดน้ำมันที่จะทยอยลดลง ซึ่งเริ่มจากกลุ่มดีเซลในปี 2567 นี้ก่อน

Advertisment