กฟผ.ใช้นวัตกรรมผลิตปุ๋ยหมักจากผักตบชวา แก้ปัญหาที่เขื่อนปากมูล

2476
- Advertisment-

กฟผ. ดึงนวัตกรรมเครื่องร่อนปุ๋ยอินทรีย์ผลิตปุ๋ยหมักจากผักตบชวา หวังลดปริมาณผักตบชวาบริเวณเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ต่อยอดสร้างรายได้ให้ชุมชน

วันนี้ (12 มิถุนายน 2562) ว่าที่ ร.ต. ไพฑูรย์ จงจินากูล รักษาราชการแทนนายอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “ผักตบชวา สวะที่มีคุณค่า” โดยเป็นโครงการที่ร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานี หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 56 มณฑลทหารบกที่ 22 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ โครงการชลประทานอุบลราชธานี กรมชลประทาน หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดเขื่อนปากมูล อุบลราชธานี กรมประมง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 กรมวิชาการเกษตร ประชาชนในพื้นที่อำเภอโขงเจียมและอำเภอสิรินธร และมีนายธนภัทร ฉัตรสุวรรณ หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พนักงาน กฟผ. ร่วมกิจกรรม ณ บ้านหัวเห่ว อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

นายศานิต นิยมาคม ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน ในฐานะรองโฆษก กฟผ. เปิดเผยว่า โครงการ “ผักตบชวา สวะที่มีคุณค่า” ได้นำนวัตกรรมการผลิตปุ๋ยหมักจากผักตบชวาแบบไม่พลิกกลับกอง ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เครื่องร่อนปุ๋ยอินทรีย์ของ กฟผ. มาร่วมแก้ไขปัญหาผักตบชวาที่มีปริมาณหนาแน่นในเขื่อนปากมูล อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ที่มีปริมาณผักตบชวาประมาณ 4,200 ตัน/ปี ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของน้ำเน่าเสีย ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำและทำให้เสียทัศนียภาพในด้านการท่องเที่ยว โดยนำผักตบชวามาผลิตปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง เพื่อสร้างคุณค่าและก่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนในพื้นที่ ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีสำหรับเพาะปลูก อีกทั้งยังส่งผลให้คุณภาพดินเพาะปลูกในชุมชนดีขึ้น และยังช่วยสร้างรายได้จากการจำหน่ายปุ๋ยหมักเป็นสินค้าของวิสาหกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน

- Advertisment -
ส่วนหนึ่งของขั้นตอนการผลิตปุ๋ยหมักจากผักตบชวา

สำหรับโครงการ “ผักตบชวา สวะที่มีคุณค่า” ได้นำแนวทางธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business Model) มาปรับใช้ โดย กฟผ. สนับสนุนเงินลงทุนบางส่วน เครื่องจักร และจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับวิสาหกิจชุมชน ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการ จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาบ้านหัวเห่ว อ.โขงเจียม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานผัง 16 บ้านคำวังยาง อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ทั้งนี้ ในปี 2562 ชุมชนมีเป้าหมายที่จะนำผักตบชวา จำนวน 400 ตัน มาทำปุ๋ยหมัก จำนวน 120 ตัน โดยจะแบ่งปุ๋ยหมักให้สมาชิกตามสัดส่วนการร่วมลงทุนค่ามูลสัตว์ เพื่อนำไปใช้ในการเพาะปลูก จำนวน 60 ตัน และวิสาหกิจชุมชนนำไปจำหน่ายในรูปของผลิตภัณฑ์ดินอินทรีย์ จำนวน 60 ตัน

Advertisment