IEEE PES Dinner Talk 2023 ชูประเด็น “Meeting the Energy Needs of a Dynamic World” ผู้บริหารในอุตสาหกรรมไฟฟ้าร่วมงานอย่างคับคั่ง

549
- Advertisment-

IEEE PES Dinner Talk 2023  ชูประเด็น “Meeting the Energy Needs of a Dynamic World” หรือ “ การตอบสนองความต้องการด้านพลังงานในโลกที่ไม่หยุดนิ่ง “  โดย ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน แสดงปาฐกถาพิเศษ ชี้ให้เห็นถึง ความสำคัญของ ไฟฟ้าที่จะเป็นพลังงานหลักของโลกในยุค ศตวรรษที่ 21 พร้อมมอบรางวัลให้แก่วิศวกรและผู้ที่มีผลงานโดดเด่น น่ายกย่อง ในงาน ประกอบด้วย คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ซีอีโอ ปตท. ดร.ประดิษฐ์พงษ์ สุขสิริถาวรกุล จาก ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล จากศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ และ ญาดา  รุ่งเรือง วิเศษรัตน์ จาก ชไนเดอร์ (ไทยแลนด์ )

งาน IEEE PES Dinner Talk 2023  จัดขึ้นในช่วงเย็น วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566  ณ ห้องวิภาวดี บอลรูม โรงแรมเซนทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยในปีนี้มีผู้บริหารในวงการอุตสาหกรรมไฟฟ้าของไทย ตอบรับเข้าร่วมงานอย่างคับคั่งเหมือนเช่นทุกปี  มี ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมแสดงปาฐกถาพิเศษและมอบรางวัลสำคัญภายในงาน และ นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง และนายกสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) กล่าวรายงาน และมีบุคคลสำคัญเข้าร่วมเป็นเกียรติในงาน อาทิ ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน  นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  และ ดร.จิราพร ศิริคำ รักษาการผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 

 IEEE PES – Thailand และสมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย (IEEE Thailand Section) ได้ร่วมจัดงาน IEEE PES DinnerTalk มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 18 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลรวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายและทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานและอุตสาหกรรมไฟฟ้าไทย ซึ่งส่งผลต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของประเทศ

- Advertisment -

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน

 โดยสรุปเนื้อหาสำคัญ ในการแสดงปาฐกถาพิเศษ ของ ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในหัวข้อ“Meeting the Energy Needs of a Dynamic World” นั้นได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน โดยไล่เรียงลำดับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างหนักในประเทศต่างๆ เช่น พายุหิมะและลูกเห็บที่ถล่มเม็กซิโกกลางฤดูร้อนเมื่อเดือนก.ค.ปี 2561  ฝนถล่ม น้ำท่วมหนักที่ปากีสถาน ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 900 ราย เมื่อเดือน ส.ค.2565  Polar Vortex หรือ ลมวนขั้วโลก ที่ทำให้สหรัฐอเมริกามีอุณหภูมิติดลบ 50 องศาเซลเซียส เมื่อเดือน เม.ย. 2565  และ คลื่นความร้อนที่ญี่ปุ่นเมื่อเดือน ก.ย.2566 ที่อุณหภูมิสูงภึง 41 องศาเซลเซียส  ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนที่สำคัญ

ในขณะที่ทิศทางสถานการณ์พลังงานของโลก ดร.ประเสริฐ สรุปว่า น้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะยังเป็นแหล่งพลังงานหลักในอนาคตและพลังงานทดแทนมีแนวโน้มสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นและมีต้นทุนที่ลดต่ำลง  ส่วนปัจจัยจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะยังส่งผลให้ราคาพลังงานมีความผันผวน ต่อเนื่องจากปี 2565    โดยมองว่า ไฟฟ้า จะเป็นพลังงานหลักของโลกในยุคศตวรรษที่ 21 จากความต้องการใช้ที่เพิ่มมากขึ้นและการเปลี่ยนโหมดการขนส่งไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า  การบริหารจัดการพลังงานจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยระบบดิจิทัล  และแต่ละประเทศจะมุ่งสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน โดยประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามอาจจะถูกมาตรการกีดกันทางการค้า

ส่วนทิศทางนโยบายพลังงานของไทยในการปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังยึดตามกรอบแผนพลังงานชาติ ( National Energy Plan ) ที่มุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยCO2 สุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2050  โดยมีนโยบายเปิดรับไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอีกถึง 4,868 เมกะวัตต์

สำหรับแนวโน้มเทคโนโลยีและกลไกตลาดพลังงานในอนาคต ดร.ประเสริฐ ชี้ให้เห็นว่า รัฐมีแนวทางส่งเสริมให้แบตเตอรี่ เป็นอุตสาหกรรม New S Curve  ของประเทศ ที่จะมีการสร้างดีมานด์และecosystem  ในการขับเคลื่อน ทั้งด้านการใช้ การผลิต การวิจัยและการพัฒนาบุคลากร  โดยมีกฎหมายและมาตรฐานมารองรับ

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ส่วนคุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวบรรยายบนเวที ย้ำถึงทิศทางพลังงานของโลกที่มุ่งสู่พลังงานสะอาด โดยที่ก๊าซธรรมชาติจะเป็นเชื้อเพลิงหลักที่สำคัญในช่วงของการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากฟอสซิล ไปสู่พลังงานสะอาดที่จะช่วยลดการปลดปล่อยCO2

พร้อมอัพเดทถึงวิสัยทัศน์ของกลุ่ม ปตท. Powering Life with Future Energy and Beyond  โดยกลุ่ม ปตท.จะมุ่งลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและพลังงานไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น  ซึ่งธุรกิจพลังงานหมุนเวียนกำหนดเป้าหมายเอาไว้ที่ 15,000 เมกะวัตต์ ในปี 2030 หรือ 75% ของกำลังการผลิตรวม  จากปี 2020 ที่มีอยู่ 533 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 11% ของกำลังการผลิตรวม  การขยายecosystem ของยานยนต์ไฟฟ้าให้ครบวงจร และการศึกษาความเป็นไปได้ในธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต คือเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ที่ล่าสุด ปตท.สผ.ชนะประมูลโครงการ Green Hydrogen ที่โอมาน   รวมทั้งการมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้เร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ เพื่อช่วยลดค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศในภาพรวม

ดร.จิราพร ศิริคำ รักษาการผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ด้านดร.จิราพร ศิริคำ รักษาการผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวบรรยายโดยสรุป ถึงการดำเนินงานของ กฟผ.ที่จะช่วยประเทศมุ่งไปสู่เป้าหมายการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ที่จะดำเนินการหลายโครงการเช่น ฉลากเบอร์ 5 ประหยัดไฟฟ้าให้ได้ 500 ล้านดวง ในปี 2025 การปลูกป่า 1 ล้านไร่ ภายในปี 2031   สร้างโครงการ Hydro- Floating Solar Hybrid ให้ได้ 5,325 เมกะวัตต์ในปี 2037  การศึกษาความเป็นไปได้ในการกักเก็บคาร์บอนและนำไปใช้ประโยชน์ CCUS  และศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจน

วิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง

คุณวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง  หรือ MEA  กล่าวว่า MEA มีโครงการสร้างสรรค์นวัตกรรมขับเคลื่อนระบบพลังงานอัจฉริยะเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้รถ EV เป็นพันธมิตรหลักใน Green Business Ecosystem และต้องเป็นผู้นำในการบริหารจัดการพลังงานแบบครบวงจร โดยใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Metro Grid  โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการเพิ่มความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า รองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก ทำให้ประชาชนได้เห็นทัศนียภาพที่สวยงามของเมืองหลวงได้เต็มตาอย่างแท้จริง

ศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

คุณศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA กล่าวโดยสรุปว่า โครงการสำคัญของ PEA ที่ตอบสนองความต้องการด้านพลังงานโลกที่ไม่หยุดนิ่ง คือการส่งเสริมการติดตั้ง Solar Rooftop ทั้งที่เจ้าของบ้านหรืออาคารเป็นผู้ลงทุนเองและใช้บริการของ PEA ในการติดตั้ง หรือ การให้บริการในรูปแบบ ESCO Model เพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานในอาคาร

นอกจากนี้ยังส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า บูรณาการ EV Platform/ Application PEA Volta Business Model พัฒนาธุรกิจชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ให้บริการระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จในเครือข่ายโดยผู้ประกอบการไม่ต้องพัฒนา Platform เอง การพัฒนาระบบไมโครกริดและระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ โครงการพัฒนาศูนย์ข้อมูลพยากรณ์พลังงานหมุนเวียน และโครงการระบบมิเตอร์อัจฉริยะ เป็นต้น

สำหรับอีกไฮไลท์ของงานบนเวที คือการมอบรางวัลให้แก่วิศวกรและผู้ที่มีผลงานโดดเด่นน่ายกย่อง โดยมี ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานมอบรางวัล จำนวน  4 รางวัล ประกอบด้วย

จากซ้ายไปขวา คุณญาดา – ดร.พิมพา- ดร.ประเสริฐ -คุณอรรถพล – ดร.ประดิษฐ์พงษ์

IEEE PES Outstanding Engineer Award 2023  ได้แก่ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

  IEEE PES Outstanding Chapter Volunteer Award 2023 ได้แก่ ดร.ประดิษฐ์พงษ์ สุขสิริถาวรกุล Vice President บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด

  IEEE PES Thailand Chapter Women in Power Award 2023 ได้แก่ ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ

  IEEE PES Thailand Chapter Young Engineer Award 2023 ได้แก่ คุณญาดา  รุ่งเรือง วิเศษรัตน์  Cluster BVP Power  บริษัท ชไนเดอร์ (ไทยแลนด์ ) จำกัด

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเสวนาเปิดมุมมองใหม่ของผู้บริหารหญิงจากองค์กรเอกชนชั้นนําด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ได้แก่

 ประธานกรรมการบริหาร บริษัทกันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) คุณโศภชา ดํารงปิยวุฒิ์

 รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จํากัด (มหาชน)  คุณศิริวงศ์ บวรบุญฤทัย

 ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) ดร.รสยา เธียรวรรณ

 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเมนส์ จํากัด คุณสุวรรณี สิงห์ฤาเดช

กิจกรรมที่จัดขึ้นครั้งนี้ยังเป็นกลไกสำคัญที่ส่งผลต่อการดำเนินงานด้านนโยบายและทิศทางการตอบสนองความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของประชากรและเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการแสดงวิสัยทัศน์และบทบาทของผู้นําในองค์กรชั้นนําด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันในการขับเคลื่อนและพัฒนานวัตกรรมพลังงานในอนาคตต่อไป

ส่วนหนึ่งของการแสดงภายในงาน
Advertisment