กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เริ่มประสบปัญหาเงินไหลออกมากขึ้นอีกครั้ง ล่าสุดบัญชีติดลบถึง 70,230 ล้านบาท ด้านสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ลงนามสัญญากู้เงินกับสถาบันการเงินล่วงหน้าเสร็จแล้ว 50,333 ล้านบาท หากกองทุนฯ ขาดสภาพคล่องพร้อมเบิกเงินกู้ออกมาใช้ทันที ป้องกันราคาดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร ระบุปัจจุบันเงินไหลออกเกือบ 8 พันล้านบาทต่อเดือน ส่วนใหญ่ใช้พยุงราคาดีเซลเป็นหลัก ขณะที่ราคาน้ำมันโลกยังทรงตัวระดับสูงกว่า 90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC) รายงานว่า สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ลงนามสัญญากู้เงินกับสถาบันการเงินจำนวน 50,333 ล้านบาท เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่จะยังไม่เบิกเงินออกมาจากสถาบันการเงิน เนื่องจากพบว่าปัจจุบันกองทุนฯ ยังสามารถหมุนเวียนรายรับและรายจ่ายได้ แม้สถานะการเงินกองทุนฯ จะเริ่มกลับมาติดลบสูงขึ้นจากปลายเดือน ก.ย. 2566 ที่ติดลบ 64,419 ล้านบาท ล่าสุดติดลบถึง 70,230 ล้านบาท ดังนั้นหากสภาพคล่องทางการเงินเริ่มสะดุด ทาง สกนช. จะต้องเริ่มทยอยเบิกเงินในสัญญาเงินกู้ออกมาใช้ทันที เพื่อพยุงราคาดีเซลไม่ให้ปรับสูงเกิน 30 บาทต่อลิตร
โดยสัญญาเงินกู้ 50,333 ล้านบาท เป็นการทำไว้ล่วงหน้าก่อนที่ พ.ร.บ.ที่กำหนดให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้กับกองทุนฯ จะสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา ดังนั้นแม้ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะสิ้นสุดลง แต่เมื่อมีสัญญาการกู้เงินไว้แล้ว ทาง สกนช. ก็สามารถทำเรื่องเบิกเงินกู้ออกมาใช้ได้เมื่อมีความจำเป็น
ทั้งนี้วงเงิน 50,333 ล้านบาท ถือว่ายังอยู่ในจำนวนเงินกู้ภายใต้กรอบ 1.5 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดย สกนช. ได้ทำเรื่องกู้ไปแล้วรวม 105,333 ล้านบาท แต่เบิกมาใช้จริงอยู่ที่ 55,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงเหลือเงินกู้ให้เบิกมาใช้ได้อีก 50,333 ล้านบาทดังกล่าว
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาสถานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด พบว่ากองทุนฯ เริ่มกลับมาสู่ปัญหาเงินไหลออกมากขึ้นอีกรอบ นับตั้งแต่เกิดปัญหาการสู้รบระหว่างประเทศอิสราเอลและกลุ่มฮามาส เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้น ประกอบกับภาครัฐประกาศกลับมาตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร แม้ที่ผ่านมาจะสามารถขยับราคาขึ้นไปได้ถึง 32 บาทต่อลิตรแล้วก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวทำให้กองทุนฯ ต้องเข้าไปพยุงราคาดีเซลเพิ่มขึ้นนั่นเอง
โดยล่าสุดกองทุนฯ ประสบปัญหาเงินไหลออกถึง 263.05 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 7,892 ล้านบาทต่อเดือน แม้ปัจจุบันจะมีเงินไหลเข้าจากการเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์และน้ำมันเตาประมาณ 144.48 ล้านบาทต่อวัน แต่ก็ต้องนำเงินไปอุดหนุนราคาดีเซลและก๊าซหุงต้ม (LPG) รวม 407.54 ล้านบาทต่อวัน ทำให้กองทุนฯ ยังอยู่ในภาวะเงินไหลออก 263.05 ล้านบาทดังกล่าว
ทั้งนี้ส่งผลให้ภาพรวมกองทุน ฯ ล่าสุด ที่รายงานโดย สกนช. ณ วันที่ 15 ต.ค. 2566 พบว่าสถานะกองทุนฯ เริ่มติดลบมากขึ้น โดยติดลบรวม 70,230 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบ 25,121 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 45,109 ล้านบาท
ขณะที่ราคาน้ำมันตลาดโลกยังขยับสูงขึ้น ล่าสุด ณ วันที่ 24 ต.ค. 2566 เวลาประมาณ 15.00 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 90.83 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.31 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 85.90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.41 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 90.33 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
อย่างไรก็ตามเมื่อมาดูในด้านค่าการตลาดน้ำมันดีเซล ณ วันที่ 24 ต.ค. 2566 ที่รายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) พบว่า ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 1.50 บาทต่อลิตร ขณะที่ค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มเบนซินอยู่ในระดับสูงประมาณ 3 บาทต่อลิตร โดยค่าการตลาดเฉลี่ยตั้งแต่วันที่ 1-24 ต.ค. 2566 อยู่ที่ระดับ 2.55 บาทต่อลิตร ซึ่งค่าการตลาดที่เหมาะสมควรอยู่ในระดับ 1.50-2 บาทต่อลิตร
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เตรียมที่จะเปิดประชุมในเร็วๆ เพื่อพิจารณาปรับเพิ่มเงินชดเชยราคาดีเซลให้มากขึ้น หากราคาน้ำมันโลกขยับขึ้นอีก เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาจำหน่ายดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร โดยล่าสุดได้นำเงินกองทุนฯ ไปชดเชยราคาดีเซลแล้วที่ 5.52 บาทต่อลิตร