ย้อนรอยการตรึงราคาดีเซลของกองทุนน้ำมันฯ

652
- Advertisment-


นับตั้งแต่สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ผ่อนคลายลงในปี 2564 ทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น และต่อมาเกิดการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ในปี 2565 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันการสู้รบก็ยังไม่สิ้นสุด ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกเกิดความผันผวนโดยเฉพาะช่วงเกิดสงครามใหม่ๆที่ผลักดันให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกพุ่งไปสูงเกินกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แม้ว่าในปี 2566 ทิศทางราคาน้ำมันจะลดลงกลับมาใกล้จุดสมดุลมากขึ้น แต่ความผันผวนจากการลดกำลังผลิตของซาอุดิอาระเบียและลดการส่งออกของรัสเซีย ส่งผลให้ราคาน้ำมันอาจจะปรับขึ้นแรงอีกระลอก

สำหรับประเทศไทย การบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกันชนที่สำคัญในการกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงดังกล่าว คือการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562

กรณีเกิดวิกฤตการณ์ดังกล่าว มีระบุอยู่ในแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563 – 2567 ว่า เป็นสถานการณ์ที่ราคาพลังงานปรับขึ้นเกินระดับที่เหมาะสม โดยราคาปรับสูงขึ้นมากกว่า 30 บาท/ลิตร กองทุนน้ำมันฯ ก็สามารถบริหารจัดการราคาได้เพื่อไม่ให้กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน

- Advertisment -

อย่างไรก็ดี ตัวเลข 30 บาท/ลิตร เป็นฐานข้อมูลดั้งเดิมที่อ้างอิงมา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน วีระพล จิรประดิษฐกุล ได้วิเคราะห์ในบทความ “กับดักนโยบายราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร” ว่า ช่วงปี พ.ศ. 2549-2551 ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นจนทำให้ราคาขายปลีกดีเซลในประเทศแตะที่ 30 บาทต่อลิตร มีการเรียกร้องให้ตรึงราคาน้ำมันเพราะกระทบต่อค่าโดยสาร รถบรรทุกขนส่ง ปัญหาเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ โดยที่เหตุการณ์แบบนี้ได้เกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ เมื่อราคาน้ำมันดิบสูงเกินกว่า 80–90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เช่น ช่วงปี 2554–2557 และช่วงปลายปี2564 ต่อเนื่องถึงปี 2565

ช่วงปลายปี 2564 (ต.ค.-ธ.ค.) กองทุนน้ำมันฯ ได้เข้าไปรักษาเสถียรภาพราคาดีเซล เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยตรึงราคาดีเซลในประเทศไว้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร และมีมาตรการอื่นร่วมด้วยคือการปรับลดส่วนผสมไบโอดีเซลจาก B7 เหลือ B5 เพื่อลดต้นทุนของราคาขายปลีกดีเซล และเมื่อขึ้นปี 2565 ราคาน้ำมันโลกก็ยังคงสูงต่อเนื่อง จนเกิดเหตุการณ์ 24 ก.พ. ที่รัสเซียโจมตียูเครน ส่งผลให้ในเวลาต่อมาราคาน้ำมันดิบตลาดโลกพุ่งสูงถึง 140 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลขึ้นไปถึง 176 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้ไตรมาสแรกของปี 2565 (ม.ค.-มี.ค.) กองทุนน้ำมันฯ มีสถานะติดลบถึง 37,592 ล้านบาท และมีช่วงที่กองทุนฯ ต้องอุดหนุนราคาดีเซลสูงถึง 14 บาท/ลิตร (เมื่อ 11 มี.ค.2565) รัฐบาลจึงไฟเขียวให้ใช้กลไกลดภาษีสรรพสามิตดีเซลร่วมด้วยโดยมีการลดภาษีดีเซลเป็นช่วงๆ หลังจากเกิดการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนรวมแล้วกระทรวงการคลังมีมาตรการลดภาษีดีเซลติดต่อกันรวม 7 ครั้ง ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ราว 158,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันรัฐก็ทยอยลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล  โดยมติคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อ 27 เม.ย.2565 ได้ปลดล็อคราคาดีเซลที่ตรึงไว้ 30 บาทต่อลิตร โดยเห็นชอบแนวทางการปรับราคาน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 32 บาท/ลิตร หลังจากนั้น กบน. ก็ได้พิจารณาปรับราคาเป็นแบบขั้นบันได โดยมีเพดานราคาไม่เกิน 35 บาท/ลิตร เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน และเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเรื่องมาตรการลดค่าครองชีพประชาชนในการช่วยเหลือราคาน้ำมันดีเซล 50% ของราคาดีเซลที่สูงเกิน 30 บาท/ลิตร และราคาดีเซลเคยปรับขึ้นไปถึง 35 บาท/ลิตรมาแล้วในช่วงเดือน มิ.ย.2565 ซึ่งในช่วงไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.2565) ตลาดน้ำมันโลกตึงตัวมากจากเหตุการณ์รัสเซีย-ยูเครน บวกกับกลุ่มโอเปกพลัสไม่เพิ่มโควตาการผลิตน้ำมัน มีการคว่ำบาตรด้านพลังงานต่อรัสเซีย ทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบพุ่งไปถึง 130,000 ล้านบาท

ไตรมาสที่ 3 (ก.ค.-ก.ย.2565) ราคาน้ำมันโลกยังไม่คลี่คลาย กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจึงยังต้องอุดหนุนต่อเนื่อง กองทุนจึงเร่งหาแหล่งเงินกู้มาเสริมสภาพคล่อง โดยประสานงานกระทรวงการคลังผ่านกลไกอนุกรรมการฯ ภายใต้ กบน. จัดหาแนวทางการกู้ยืมเงิน ปลายปี 2565 (พ.ย.-ธ.ค.) ราคาน้ำมันเริ่มอ่อนตัวลง และกองทุนเริ่มเก็บเงินเข้าทำให้มีสภาพคล่องมากขึ้นภายหลังจากคณะรัฐมนตรีได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับ 

เริ่มต้นปีใหม่ 1 ม.ค. 2566 ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบลดลงเหลือ 121,491 ล้านบาท โดยสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ ติดลบลดลงต่อเนื่องตลอดช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี2566 แต่ดูเหมือนประวัติศาสตร์จะกลับมาซ้ำรอยเดิมอีก ภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบันได้หวนกลับไปตรึงราคาดีเซลที่ 30 บาท/ลิตร ด้วยการใช้กลไกลดภาษีสรรพสามิตลง 2.50 บาท/ลิตรไปจนถึงสิ้นปี2566 เมื่อรวมการอุดหนุนราคาดีเซลในช่วงที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนจนถึงปัจจุบัน (เดือนกันยายน 2566) กองทุนน้ำมันฯ อุดหนุนไปรวมแล้วกว่า 100,000 ล้านบาท (หนึ่งแสนล้านบาท) ถึงแม้รัฐจะวางกรอบตรึงราคาดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตรแค่สิ้นปี2566 แต่ก็เชื่อได้ว่า ประเทศไทยคงติดกับดักตรึงราคาดีเซล 30 บาท/ลิตรไปอีกนาน ตราบเท่าที่รัฐบาลยังมองเรื่องประชานิยมเป็นเป้าหมายหลักแทนที่จะมองในองค์รวมของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศมากกว่า

ปัจจุบันกองทุนมีกรอบวงเงินกู้ที่บรรจุอยู่ในบัญชีหนี้สาธารณะสำหรับกองทุนน้ำมันไว้แล้ว 1.1 แสนล้านบาท และยังเหลืออีก 5.5 หมื่นล้านบาทสำหรับดูแลราคาดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร และตรึงราคาก๊าซ LPG ไปได้จนถึงสิ้นปี 2566 โดยฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิ ณ วันที่ 24 กันยายน 2566  ติดลบรวม 64,419 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 19,570 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 44,849 ล้านบาท

Advertisment