กกพ.พร้อมชี้แจงประเด็นค่าไฟฟ้าแพงตามคำสั่งศาลอาญาฯ ภายใน 30 วัน

539
- Advertisment-

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยืนยันพร้อมชี้แจงประเด็นค่าไฟฟ้าแพงตามคำสั่งศาลอาญาฯ ภายใน 30 วัน ระบุที่ผ่านมา กกพ.ขึ้นหลายเวทีแจงค่าไฟฟ้าแพงมาแล้ว เพื่อให้ประชาชนเข้าใจสาเหตุและข้อมูลข้อเท็จจริงมาโดยตลอด ย้ำค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า ( AP) ไม่ใช่สาเหตุหลักทำค่าไฟฟ้าพุ่ง แต่เกิดจากก๊าซฯ แหล่งเอราวัณลดลงและราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โลกพุ่ง ทำต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงตามไปด้วย  

จากกรณีเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีหนังสือถึงสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นค่าไฟฟ้าแพง ตามที่ นายปริเยศ อังกูรกิตติ ฟ้องร้องประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกับพวก ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ เกี่ยวกับค่าไฟฟ้าแพง

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า กกพ.พร้อมทำหนังสือชี้แจงทุกข้อภายใน 30 วัน ตามที่ศาลอาญาฯ มีคำสั่งมา และจะจัดทีมงานเตรียมพร้อมชี้แจงทุกประเด็นปัญหาค่าไฟฟ้าแพงด้วย ซึ่งทาง กกพ. ไม่ได้หนักใจอะไร เนื่องจากที่ผ่านมา กกพ.ก็ชี้แจงประเด็นปัญหาค่าไฟฟ้าแพงมาหลายเวที เพื่อให้ประชาชนเข้าใจข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

- Advertisment -

โดยเฉพาะประเด็นเรื่องค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (AP) ซึ่งตามปกติสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) จะมี 2 รูปแบบหลักๆ คือ 1. รูปแบบ AP คือ ถ้า กกพ. สั่งให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า ผู้ผลิตไฟฟ้าจะต้องจ่ายไฟฟ้าให้ได้ตามสัญญา แต่ถ้าหากไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้จะต้องเสียค่าปรับ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้มีไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่อง และเกิดความมั่นคงต่อระบบไฟฟ้า

2. รูปแบบการผลิตไฟฟ้าแบบไม่เสถียร (Non-Firm) ซึ่งเป็นสัญญาที่จะใช้กับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็นส่วนใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม เป็นต้น เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับสภาพธรรมชาติแดด และลม  ซึ่งการผลิตไฟฟ้าก็จะเข้าระบบมาไม่แน่นอน

ทั้งนี้การจ่ายค่าความพร้อมจ่าย หรือ AP ให้โรงไฟฟ้า จึงเป็นการยืนยันว่าจะมีการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบอย่างมั่นคงและสม่ำเสมอ แม้บางช่วงเวลาอาจสั่งไม่ให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า เนื่องจากปัจจัยบางประการก็ได้ ดังนั้นสัญญาการผลิตไฟฟ้าแบบ AP ถือว่ามีความจำเป็นต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าประเทศ

อย่างไรก็ตามในการคำนวณค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ทาง กกพ. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนทุกครั้งผ่านทางเว็บไซต์ กกพ. (www.erc.or.th) เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจและแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ กกพ.นำไปปรับปรุงและประกาศเป็นค่า Ft ต่อไป

สำหรับสาเหตุที่ค่าไฟฟ้าปรับสูงขึ้น ปัจจัยหลักไม่ได้เกิดจากการจ่ายค่า AP แต่เกิดจากปัญหาด้านเชื้อเพลิงขาดแคลน และมีราคาแพง โดยเฉพาะกรณีที่ปริมาณก๊าซธรรมชาติแหล่งเอราวัณในอ่าวไทยผลิตได้ลดลง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้ผลิตหลังหมดอายุสัมปทาน จนต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาใช้ทดแทน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา LNG โลกก็กลับมีราคาแพงมาก จากปัญหาการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้ความต้องการใช้ LNG โลกพุ่งสูง จึงเป็นสาเหตุให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าแพงขึ้นไปด้วย

ดังนั้นเรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่ต้องสร้างความเข้าใจอย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด หรือ คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่ง กกพ.พร้อมชี้แจงประเด็นค่าไฟฟ้าแพงต่อทุกเวที รวมถึงกรณีที่ศาลอาญาฯ สั่งให้ชี้แจงในครั้งนี้ด้วย ซึ่ง กกพ.ก็พร้อมปฏิบัติตาม

Advertisment