นักวิชาการ​ ชี้โซลาร์รูฟท็อป​ระบบ​ Net​ Metering​ สร้างภาระต้นทุนค่าไฟที่สูงขึ้นให้ประชาชนทั่วไป

1874
- Advertisment-

นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ ชี้หากรัฐนำระบบ​ Net​ Metering​ มาใช้ส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อป​ ในสัดส่วนที่มากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวมของประชาชนที่ต้องจ่ายแพงขึ้น​ รวมทั้งต้นทุนการจัดหาไฟฟ้าของประเทศที่สูงขึ้นด้วย​ โดยมองนโยบายการส่งเสริม​การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์​ เป็นเรื่องที่ดี​ แต่เสนอแนะให้ใช้ระบบ​ Net​ Billing​ ที่มีผลกระทบต่อภาระค่าไฟฟ้าที่คนส่วนใหญ่ต้องแบกรับน้อยกว่า

จากนโยบายการหาเสียงของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆที่จะส่งเสริมให้มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน​ หรือ​ โซลาร์รูฟท็อป​ เพื่อช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชนและทำให้ประชาชนที่ลงทุนติดตั้งมีรายได้จากการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลา​ร์เซลล์​เพื่อขายเข้าระบบ​ โดยที่มีเสียงสนับสนุนให้นำระบบ​ Net​ Metering​ มาใช้เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนติดตั้งที่มากขึ้นนั้น

ในมุมมองของ​ รศ.​ดร.สุรชัย​ ชัยทัศนีย์​ หัวหน้าสาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง​ คณะวิศวกรรมศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์​มหาวิทยาลัย​ ซึ่งให้สัมภาษ​ณ์​กับทางศูนย์ข่าวพลังงาน​ ( Energy​ News​ Center-ENC​ )​ เห็นว่า​ การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์​ ( Solar PV)​โดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป​ในระดับครัวเรือน​ นั้นเป็นเรื่องดี แต่มีข้อเท็จจริงที่ภาครัฐซึ่งกำหนดนโยบายและประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องรู้​ ก็คือหากมีการเปิดเสรี​ ให้มีการลงทุนติดตั้ง
ในจำนวนที่มากเกินไป​ หรือเป็นการเปิดเสรี​โซลาร์ จะทำให้เกิดเป็นภาระต้นทุนใน​ 2​ ส่วนสำคัญ​ คือ​ 1.​ภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จะไปเฉลี่ยให้กับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป​ที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นจากปกติ และ​ 2.ภาระต่อต้นทุนในการจัดหาไฟฟ้าเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า ( Ancillary Services​)ในส่วนของหน่วยงานการไฟฟ้า

- Advertisment -

ทั้งนี้ในการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนในปริมาณหนึ่งๆ นั้น​ หน่วยงานการไฟฟ้าที่ต้องรับผิดชอบด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้าก็จะต้องมีการเพิ่ม Ancillary Services ขนานกันไปด้วยเสมอ

รศ.​ดร.สุรชัย​ หยิบยกข้อมูลจากการศึกษาวิเคราะห์โครงการนำร่องการส่งเสริมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเสรี​ ที่ทางจุฬา​ลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ ดำเนินการให้กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน​ หรือ​ พพ.​ตั้งแต่ปี​ 2560​ ในการนำระบบ​ Net​ Metering​ ที่เป็นการหักลบกลบหน่วยไฟฟ้าภายในหรือข้ามรอบบิล​ เปรียบเทียบกับ​ ระบบ​ Net​ Billing ที่เป็นการหักลบมูลค่าของไฟฟ้าภายในหรือข้ามรอบบิล​ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันกับโครงการโซลาร์ภาคประชาชน​ ที่รัฐเปิดรับสมัครอยู่ในปัจจุบัน​ ว่า​ แม้ว่าระบบ​ Net​ Metering​ จะทำให้เกิดแรงจูงใจให้มีการติดตั้ง​โซลาร์รูฟท็อปมากกว่า​ เนื่องจาก​ มูลค่าของไฟฟ้าส่วนที่ไหลย้อนกลับสู่ระบบสายส่งของการไฟฟ้าจะเท่ากับค่าไฟฟ้าขายปลีก​ ​ ในขณะที่​ ระบบ​ Net​ Billing​ มูลค่าของไฟฟ้าส่วนที่ไหลย้อนเข้าระบบสายส่งของการไฟฟ้า​ จะเป็นไปตามที่รัฐกำหนด​ คือปัจจุบันอยู่ที่​ 2.20 บาทต่อหน่วย​ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนขายส่ง​

ดังนั้นหากรัฐเลือกส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปด้วยระบบ​ Net​ Metering​ จะทำให้มีผู้สนใจลงทุนจำนวนมาก​ และส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีฐานะการเงินที่ดี​ เพราะนอกจากจะลดภาระค่าไฟฟ้าของตัวเองลงได้มากแล้ว​ ยังมีรายได้จากการขายไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นเทียบเท่ากับอัตราขายปลีก​ แต่จะเป็นการผลักภาระไปให้กับคนอีกกลุ่ม​ที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ลงทุนติดตั้ง​ โซลาร์รูฟท็อป เนื่องจากการไฟฟ้าต้องรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบในราคาแพงกว่าต้นทุนเฉลี่ยที่ผลิตได้

นอกจากนี้​ จากข้อมูลการศึกษาต้นทุน​​ในส่วนค่า Ancillary Services ที่การไฟฟ้า​จะต้องจัดหาเพื่อเสริมความมั่นคงให้กับไฟฟ้าที่มาจากแผงโซลาร์เซลล์​ หรือ​ Solar PV ที่ผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะช่วงที่มีแสงแดด​ จะมีค่าประมาณ 0.2-0.4 บาท​ ต่อหน่วย ดังนั้นยิ่งส่งเสริมให้มี Solar PV มากเท่าไหร่​ ระบบไฟฟ้าหลักก็จะมีภาระในส่วน Ancillary Services​เพิ่มมากขึ้น​ ดังนั้นจึงมีข้อสังเกตว่า จะเป็นการนำเงินตราของประเทศมาใช้กับกิจการไฟฟ้ามากเกินไปหรือไม่

ในมุมมองของ​ รศ.​ดร.สุรชัย​ เห็นว่าแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจาก Solar PV ในประเทศไทย​จึงควรเริ่มจาก การให้ผลิตเพื่อใช้เองก่อน หากมีส่วนที่เหลือจึงขายคืนให้ระบบไฟฟ้า​ ในลักษณะเดียวกับ​ โครงการโซลาร์ภาคประชาชนในปัจจุบัน​ ที่มีอัตราการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่ 2.20 บาทต่อหน่วยซึ่งรูปแบบดังกล่าวนี้จะคล้ายกับรูปแบบ Net Billing โดยอาจจะต้องมีการทบทวนอัตรารับซื้อเป็นระยะ​ๆ

ส่วนระบ​บ​ Net​ Metering​ ที่เป็นการผลิตแล้วหักลบกลบหน่วย หากจะมีการส่งเสริมควรมีการกำหนดปริมาณที่เหมาะสมเน้นเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีความจำเป็นเดือดร้อนเรื่องภาระค่าไฟฟ้าจริงๆ​ ไม่เช่นนั้น​ ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไป​จะกลายเป็นผู้ที่ต้องรับภาระค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น​แทน

โดยต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปและต้องซื้อไฟฟ้าจากระบบที่จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น​ ทาง​ รศ.​ดร.สุรชัย​ คำนวณให้เห็นตามตัวอย่างด้านล่างนี้

****ตัวอย่างการคำนวณผลกระทบค่าไฟฟ้า: หากมีการส่งเสริม Rooftop Solar PV 1,000 MW จะทำให้ตัวหารหน่วยขายไฟฟ้าลดลงจากประมาณ 200,000 ล้านหน่วย/ปี เป็น 198,500 ล้านหน่วย/ปี หรือลดลงประมาณ 0.75% หรือส่งผลต่อค่าไฟฟ้าประมาณ 3.5 สตางค์/หน่วย และหากมีการส่งเสริม Rooftop Solar PV 5,000 MW จะทำให้ตัวหารหน่วยขายไฟฟ้าลดลงจากประมาณ 200,000 ล้านหน่วย/ปี เป็น 192,500 ล้านหน่วย/ปี หรือลดลงประมาณ 3.75% หรือส่งผลต่ออัตราค่าไฟฟ้าทั่วไปประมาณ 17.6 สตางค์/หน่วย

Advertisment