ค่าไฟฟ้าในบิลค่าไฟเดือนมีนาคม 2566 ในแต่ละบ้านที่ปรับเพิ่มขึ้นมากจากเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งๆ ที่พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าแทบไม่เปลี่ยนเลย ทำให้คนส่วนใหญ่ต่างคิดไปว่าเป็นเพราะคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่มีหน้าที่กำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้านั้น แอบอนุมัติปรับขึ้นค่าไฟฟ้า โดยไม่บอกกล่าวกันล่วงหน้าหรือไม่?
ประเด็นค่าไฟฟ้าแพงที่กลายมาเป็นประเด็นร้อนในช่วงที่อากาศร้อนจัดในเดือนเมษายน อาจจะเป็นเพราะเข้าใกล้ช่วงของการเลือกตั้ง ที่จะมาถึงใน วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ จึงหยิบเรื่องนโยบายลดค่าไฟฟ้ามาหาเสียง เพื่อหวังให้ประชาชนทุกครัวเรือนที่ต่างได้รับผลกระทบ เลือกพรรคที่มีนโยบายโดนใจ เข้าไปเป็นรัฐบาลช่วยแก้ปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าแพง
อย่างไรก็ตาม เมื่อตัดประเด็นทางการเมืองออกไป เพื่อพิจารณาหาเหตุผลในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ว่าทำไมค่าไฟฟ้าเดือนมีนาคม จึงแพงกว่าเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะพบว่า กกพ. ยังคงมีการใช้อัตราค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่าเอฟที ในอัตราเดียวกัน ทั้งงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย โดยที่ยังไม่ได้มีการปรับขึ้นแต่อย่างใด
แต่ที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นมากนั้น เนื่องจากเดือนมีนาคม ที่มีจำนวน 31 วัน มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ ที่มี 28 วัน อีกทั้ง เดือนมีนาคมที่อากาศร้อนกว่าเดือนกุมภาพันธ์ จึงทำให้เครื่องปรับอากาศในแต่ละบ้านทำงานหนักขึ้น เปลืองไฟมากขึ้น แม้ว่าจะเปิด-ปิด เป็นเวลาเดียวกัน และเมื่อเข้าไปดูในรายละเอียดของอัตราค่าไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ก็คิดเป็นอัตราก้าวหน้า คือ ยิ่งใช้ไฟฟ้ามาก อัตราก็ยิ่งสูงขึ้น (Progressive Rate) ไล่อัตราตั้งแต่ 2.34 – 4.42 บาทต่อหน่วย ก็เป็นคำตอบในเหตุและผลว่า ทำไมค่าไฟฟ้าในบิลของแต่ละบ้านจึงสูงขึ้น
ข้อมูลจากสถาบันไฟฟ้าและอิเลกทรอนิกส์ ชี้ให้เห็นถึงผลการทดสอบเครื่องปรับอากาศขนาด 12,000 บีทียูต่อชั่วโมงต่อวัตต์ (BTU/hr/W) ที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟฟ้ามากที่สุดของบ้าน ก็ได้ข้อสรุปว่า ทุกอุณหภูมิภายนอกที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียสประสิทธิภาพเครื่องปรับอากาศจะลดลง และกินไฟเพิ่มขึ้น 3.07% ดังนั้น อากาศที่ร้อนขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม ที่มีจำนวนวันมากขึ้น จำนวนหน่วยการใช้ไฟฟ้าจึงเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อนำไปคิดอัตราค่าไฟฟ้าแบบก้าวหน้า ตัวเลขที่สะท้อนออกมาในบิลค่าไฟฟ้าที่แต่ละบ้านต้องจ่าย จึงเป็นจำนวนเงินที่มากขึ้น
–
–
สำหรับบิลค่าไฟฟ้าในเดือนเมษายน ที่อากาศร้อนจัด ก็ยังคงใช้ค่าเอฟทีในอัตราเดียวกันกับเดือนมีนาคม คือ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย แต่ในเดือนพฤษภาคมที่สภาพอากาศจะยังคงร้อนอยู่ อัตราค่าไฟฟ้าเอฟทีจะเป็นอัตราใหม่ตามที่ กกพ. เพิ่งมีมติออกมาเมื่อวานนี้ (24 เม.ย. 2566) คือ ปรับลดลงอีก 7.08 สตางค์ต่อหน่วย จากมติเดิมที่ กกพ. จะปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดเดือน พ.ค. – ส.ค. เป็น 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟที งวดเดือน พ.ค. – ส.ค. เหลือ 91.19 สตางค์ต่อหน่วย หรือลดลงต่ำกว่าค่าเอฟที เดือน ม.ค.- เม.ย. 2.24 สตางค์ต่อหน่วย โดยเป็นผลมาจากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีหนังสือถึง กกพ. ยอมให้ลดการบวกส่วนที่ต้องคืนภาระหนี้ค่าเชื้อเพลิงที่แบกรับแทนประชาชนไปก่อน ค่าเอฟทีที่ลดลงจึงจะมีส่วนช่วยให้ค่าไฟฟ้าของประชาชนลดลงได้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และปรับอุณหภูมิให้สูงขึ้นเพื่อลดความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิภายนอกและภายในบ้าน ก็จะทำให้ เครื่องปรับอากาศกินไฟน้อยลง
–
–
โดยในวันที่ 25 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ทางกระทรวงพลังงานร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ประหยัดพลังงานภาคฤดูร้อน ปี 2566 ซึ่งหากประชาชนนำแนวทางการประหยัดพลังงานไปปรับใช้ จะมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบค่าไฟฟ้าลงไปได้พอสมควร
–
–