ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานว่า ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 8% จากสัปดาห์ก่อนหน้าเนื่องจากวันที่ 3 เม.ย. 66 สมาชิก OPEC+ จำนวน 8 ประเทศ ประกาศลดปริมาณการผลิตเพิ่มอีก 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ธ.ค. 66 รวมถึงรัสเซียที่ขยายเวลาลดปริมาณการผลิต 500,000 บาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน มี.ค. 66 ออกไปจนถึงสิ้นปี 2566 ทั้งนี้บริษัทน้ำมันแห่งชาติ Saudi Aramco ของซาอุดีอาระเบียประกาศเพิ่มราคาขายน้ำมันดิบแบบ Term แก่ลูกค้าในเอเชีย ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 แสดงความเชื่อมั่นต่ออุปสงค์น้ำมันของเอเชีย อนึ่ง Fitch Ratings ปรับเพิ่มความน่าเชื่อถือของซาอุดีอาระเบียจากระดับ A สู่ระดับ A+ ตามฐานะทางการคลังที่แข็งแกร่งขึ้น
นาย Jamie Dimon ประธานกรรมการบริหารของ JP Morgan กล่าวว่าวิกฤติภาคธนาคารที่ทำให้ตลาดทั่วโลกเกิดปัญหาอย่างรุนแรงในเดือนก่อน มีแนวโน้มใกล้สิ้นสุดลง โดยธนาคารขนาดเล็กหากเกิดปัญหาจะได้รับความช่วยเหลือให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ ด้านธนาคารขนาดใหญ่ยังคงมีความเข้มแข็งเพียงพอ
โดยคาดการณ์ราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวในกรอบ 84-89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากที่ OPEC+ ลดการผลิตส่งผลกระทบให้อุปทานในตลาดโลกตึงตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรปและจีน มีแนวโน้มฟื้นตัวมากขึ้น หนุนให้ราคาน้ำมันอาจขยับขึ้นไปสู่ระดับ 90-100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงปลายปี 66
ทางเทคนิค สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 84- 89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- ในการประชุม Joint Ministerial Monitoring Committee (JMMC) วันที่ 3 เม.ย. 66 OPEC+ คงนโยบายลดการผลิตน้ำมันดิบ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงสิ้นปี 66 ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, คูเวต, โอมาน, อิรัก, แอลจีเรีย, คาซัคสถาน และกาบอง อาสาลดการผลิตโดยสมัครใจเพิ่มเติมรวม 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ธ.ค. 66 และรัสเซียขยายแผนลดการผลิต 500,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน มี.ค.-มิ.ย. ไปจนถึงเดือน ธ.ค. 66 ทำให้ปริมาณกำลังผลิตรวมที่ลดลงในเดือน พ.ค.- ธ.ค. 66 อยู่ที่ 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- EIA ของสหรัฐฯ รายงานอุปสงค์น้ำมันในเดือน มี.ค. 66 อยู่ที่ 19.54 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดนับตั้งแต่ พ.ย. 65 ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในเดือน ม.ค. 66 เพิ่มขึ้น 36,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อน อยู่ที่ 12.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดนับตั้งแต่ มี.ค. 63
- Reuters รายงานว่าเอเชียนำเข้าน้ำมันดิบในไตรมาส 1/66 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 6.3% อยู่ที่ 28.67 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากอุปสงค์ของจีนฟื้นตัวหลังเปิดประเทศ โดยจีนนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน มี.ค. 66 เพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อน ปริมาณ 11.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- ประธานกรรมการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) นาง Kristalina Georgieva คาดว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของโลกในปี 2566 จะเติบโตต่ำกว่า +3% จากปีก่อน (ลดลงจากในปี 65 ที่ +3.4% จากปีก่อน) เนื่องจากวิกฤติภาคธนาคาร อัตราเงินเฟ้อ และปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์
- วันที่ 2-3 พ.ค. 66 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) อาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากปัจจุบัน 4.75 – 5.0% เนื่องจากสัญญาณเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีทิศทางดีขึ้น อาทิ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) ในเดือน มี.ค. 66 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน อยู่ที่ 236,000 ราย ขณะที่อัตราว่างงาน (Unemployment Rate) ลดลงจากเดือนก่อน 0.1% อยู่ที่ 3.5%