4 พรรคการเมืองเปิดตัวทีมเศรษฐกิจให้เห็นโฉมหน้ากันแล้วทั้ง เพื่อไทย ก้าวไกล รวมไทยสร้างชาติ และพลังประชารัฐ
ถ้าจับประเด็นเฉพาะเรื่องพลังงาน มี 3 รายชื่อที่มีประสบการณ์ในการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้แก่ พรรคเพื่อไทย นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุรีย์เดช เคยดำรงตำแหน่ง ช่วง ก.พ.2546-มี.ค.2548 สมัยรัฐบาลทักษิณ
คนที่สอง พรรคพลังประชารัฐ คือนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ดำรงตำแหน่ง ช่วง ก.ค.2562-15 ก.ค. 2563 สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ และพรรครวมไทยสร้างชาติ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ดำรงตำแหน่งช่วง ส.ค.2563 จนถึงวันยุบสภา 20 มี.ค.2566 และปัจจุบันยังคงรักษาการอยู่
ส่วนทีมเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล ได้ผู้ที่มีประสบการณ์คลุกคลีอยู่ในแวดวงพลังงานโดยเฉพาะเรื่องของไฟฟ้า ในบทบาทของนักวิชาการ มายาวนาน คือ อาจารย์เดชรัต สุขกำเนิด
สำหรับพรรคเพื่อไทย ที่เชื่อกันว่าจะได้คะแนนเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นอันดับหนึ่ง ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงและมีโอกาสสูงว่าจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นั้นชูนโยบายหาเสียงเรื่องพลังงาน ว่าจะลดราคาค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส ทันที ที่ได้เป็นรัฐบาล ถามว่าจะทำได้อย่างไร ก็ตอบว่าทำได้ทันทีในส่วนของน้ำมันทั้งดีเซลและเบนซิน ด้วยการปรับลดภาษีสรรพสามิต หรือลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน โดยที่กองทุนน้ำมันจะยังคงมีฐานะติดลบอยู่ต่อไปก่อน จาก ณ วันที่ 19 มี.ค.2566 กองทุนมีฐานะติดลบ อยู่ 9.7 หมื่นล้านบาท
ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์กองทุนน้ำมัน นั้นก็เคยติดลบสูงถึง 9.2 หมื่นล้านบาท ในช่วงที่นายแพทย์พรหมินทร์ เป็นรัฐมนตรีพลังงาน เพราะมีนโยบายการตรึงราคาทั้งเบนซินและดีเซล แต่ก็มาถูกทำลายสถิติโดยสิ้นเชิง ในสมัยของนายสุพัฒนพงษ์ เป็นรัฐมนตรีพลังงาน ที่ตัวเลขติดลบพุ่งสูงถึง 1.3แสนล้านบาท จากนโยบายการตรึงราคาดีเซลเอาไว้ยาวนานเช่นเดียวกัน
สำหรับเรื่องของค่าไฟฟ้านั้น ในการคำนวณค่าเอฟที งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.เคาะตัวเลขออกมาแล้วว่า ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยจะปรับเพิ่มเล็กน้อยเป็น 4.77 บาทต่อหน่วยจากงวดก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย
โดยเมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่ ส.ค.2566 ค่าเอฟที สำหรับงวด ก.ย.-ธ.ค.2566 ก็น่าจะปรับลดลงได้ โดยไม่ต้องออกแรงบริหารจัดการอะไรมาก เนื่องจากค่าเชื้อเพลิงที่เป็นต้นทุนหลักคือก๊าซธรรมชาติ มีแนวโน้มที่จะลดลง เพราะผลิตก๊าซจากอ่าวไทยที่มีราคาถูกกว่า LNG นำเข้าได้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับพรรคพลังประชารัฐ ก็มีนโยบายการหาเสียงที่จะลดราคาทั้งน้ำมันและไฟฟ้าเช่นเดียวกัน ซึ่งก็คงใช้กลไกที่ไม่แตกต่างกันกับพรรคเพื่อไทยมากนัก
และถ้ายังจำกันได้ สมัยที่นายสนธิรัตน์ เป็นรัฐมนตรีพลังงาน ก็มีนโยบายให้ กกพ.นำเงินบริหารค่าเอฟที มาใช้จนหมดหน้าตัก กว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือค่าไฟฟ้าประชาชนลดผลกระทบภาครัวเรือนที่ต้องWork From Home ช่วงโควิด-19
ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ทีมเศรษฐกิจคือนายสุพัฒนพงษ์ ก็คงจะเห็นผลงานการตรึงราคาทั้ง ดีเซล ก๊าซหุงต้ม กันแบบหลังแอ่น หนี้ท่วมทั้งกองทุนน้ำมัน และ กฟผ. เพราะเจอจังหวะวิกฤติซ้อนวิกฤติ ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และ เศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากผลพวงของโควิด-19
ส่วนภาคไฟฟ้า ผลงานที่เด่นชัดคือการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบล็อตใหญ่ 2 ล็อต ล็อตแรก 5,200เมกะวัตต์และล็อตสอง อีก 3,600 เมกะวัตต์ นัยว่าเพื่อปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงให้ตอบโจทย์เรื่องการลดก๊าซคาร์บอนตามเทรนด์โลก ท่ามกลางข้อกังขาของ พรรคก้าวไกล เรื่องสำรองไฟฟ้าล้นระบบ ที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น
และนโยบายที่รัฐบาลชุดปัจจุบันทำไว้คือประเด็นที่พรรคก้าวไทย อาสาจะเข้ามาแก้ไขด้วยการปรับโครงสร้างทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน ป้ายหาเสียงของพรรคก้าวไกล เขียนว่า หยุดเอื้อทุนใหญ่ค่าไฟฟ้าลด 70 สตางค์
โดยอาจารย์เดชรัต อภิปรายในเวทีที่จัดโดย คปพ. ว่า นโยบายด้านพลังงานที่พรรคก้าวไกลจะดำเนินการ เรื่องหลักๆคือ
ค่าไฟฟ้า จะมีการเข้าไปปรับสูตรราคาก๊าซ ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าเพื่อให้ภาคครัวเรือนได้ใช้ก๊าซราคาถูกเหมือน ภาคอุตสาหกรรม
การเข้าไปปรับลดภาระค่าความพร้อมจ่าย โดยเจรจากับโรงไฟฟ้าเก่า ที่เป็นโรงไฟฟ้าไม่มีประสิทธิภาพและใกล้จะหมดอายุ
ที่น่าสนใจคือการหยุดข้อตกลงสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เพิ่มเติม ในโรงใหม่ เพราะประเทศมีสำรองไฟฟ้าล้นเกิน การปรับพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าใหม่ ไม่ให้สูงเกินกว่าความเป็นจริง
รวมทั้ง การยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดภายในปี2578
นอกจากนี้ยังจะส่งเสริมไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ และระบบ Net Metering เพื่อให้การซื้อขายไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ของภาคประชาชนมีความคล่องตัวและเป็นธรรมมากขึ้น
ได้เห็นทิศทางนโยบายด้านพลังงานจาก 4 พรรคการเมืองกันพอสังเขปแล้ว จากนี้ก็อยู่ที่ว่า หลังการเลือกตั้งเดือน พ.ค.2566 พรรคไหนจะได้เป็นแกนนำรัฐบาล และจะส่งใครมาเป็นรัฐมนตรีพลังงาน นโยบายของพรรคนั้นจึงจะมีโอกาสนำไปสู่ภาคปฏิบัติได้
ที่สำคัญคือ อย่าใช้นโยบายที่ท้ายที่สุดประชาชนผู้ใช้พลังงานต้องรับภาระไปมากกว่านี้เลย