คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เห็นชอบปรับแผนรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพิ่มอีก 3,668.5 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันเปิดรับซื้ออยู่ 5,203 เมกะวัตต์ใน “โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565” โดยเปิดรับซื้อทั้งโซลาร์ฟาร์ม , ลม ,ก๊าซชีวภาพ และขยะอุตสาหกรรม ยกเว้นโซลาร์ฟาร์มที่รวมแบตเตอรี่ยังไม่เปิดรับซื้อ ยืนยันช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าประชาชนได้ 1 พันล้านบาท ในปี 2573
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center : ENC) รายงานผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมี นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมแถลงข่าว โดยมีสาระสำคัญดังนี้
ที่ประชุม กพช. เห็นชอบแผนเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้ “แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2)”
โดยให้เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้นเป็น 12,700 เมกะวัตต์ จากเดิมที่กำหนดให้มีไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพียง 9,996 เมกะวัตต์
โดยการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนดังกล่าว จะเพิ่มจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน(โซลาร์ฟาร์ม),พลังงานลม, ก๊าซชีวภาพ,ขยะอุตสาหกรรม ประกอบกับทาง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้รวบรวมโรงไฟฟ้าที่ไม่สามารถผลิตได้ตามแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 เช่น ไฟฟ้าจาก สปป. ลาว ที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ทันในปี 2571 โดยรวบรวมทั้งในส่วนที่ผลิตเข้าระบบไม่ทันตามแผน PDP และที่ กพช. เห็นชอบให้รับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นดังกล่าว เพื่อนำมาเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นอีก 3,668.5 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่เพิ่งเปิดรับซื้ออยู่ 5,203 เมกะวัตต์ใน “โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565”
ทั้งนี้การเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น 3,668.5 เมกะวัตต์ นั้น จะมาจาก โซลาร์ฟาร์ม 2,632 เมกะวัตต์ (เพิ่มขึ้นจากรอบแรกที่เปิดรับซื้อรวม 5,203 เมกะวัตต์ โดยโซลาร์ฟาร์มรับซื้อ 2,368 เมกะวัตต์ ), พลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ (จากเดิมรับซื้อ 1,500 เมกะวัตต์), ก๊าซชีวภาพ 6.5 เมกะวัตต์ (จากเดิมไม่มีรายใดเสนอขายไฟฟ้าเข้ามา), ไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม 30 เมกะวัตต์ (จากปัจจุบันเปิดรับซื้อ 100 เมกะวัตต์)
ดังนั้นเมื่อรวมทั้งรอบที่เปิดรับซื้อ 5,203 เมกะวัตต์ ที่ผ่านมา และรอบใหม่ที่จะเปิดรับซื้ออีก 3,668.5 เมกะวัตต์ จะส่งผลให้มีไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มรวมเป็น 5,000 เมกะวัตต์, พลังงานลม รวมเป็น 2,500 เมกะวัตต์ ,ก๊าซชีวภาพ เป็น 6.5 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม รวมเป็น 130 เมกะวัตต์
ทั้งนี้การเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนอีก 3,668.5 เมกะวัตต์ ดังกล่าว จะเป็นการเปิดต่อเนื่องหลังจากเสร็จสิ้นการเปิดรับซื้อรอบแรกที่ 5,203 เมกะวัตต์ โดยใช้ระเบียบเดียวกันกับของ กกพ. ในการรับซื้อไฟฟ้า(ในรูปแบบสัญญา Non-Firm โดยมีอายุสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 20 -25 ปี) ส่วนพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานจะยังไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นการผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการทดสอบคาดว่าจะสามารถจัดหาได้ครบตามเป้าหมายแล้ว
การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนตามระเบียบเดิมของ กกพ. ดังกล่าวจะทำให้เกิดการรับซื้อไฟฟ้าได้ต่อเนื่องและรวดเร็วขึ้น เพื่อตอบสนองเป้าหมายรัฐบาลที่จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)ภายในปี พ.ศ. 2593 และการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 รวมทั้งเพิ่มพลังงานทดแทนและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศด้วยการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดย กพช.มอบหมายให้ กกพ.ไปดำเนินการเปิดรับซื้อตามขั้นตอนต่อไป
อย่างไรก็ตามการรับซื้อไฟฟ้าสะอาดที่เพิ่มขึ้นนี้จะช่วยแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงจากการต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่าย (AP) ไฟฟ้าลงได้ ดังนั้นกระทรวงพลังงานยืนยันว่าจะไม่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นแน่นอน และยังช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าลงได้ 1 พันล้านบาทในปี 2573 ของแผน PDP 2018 ด้วย เนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดถูกกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล
นายกุลิศ กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดสนใจเสนอขายไฟฟ้าเข้ามากว่า 17,000 เมกะวัตต์ จากที่เปิดรับซื้อเพียง 5,000 เมกะวัตต์ ดังนั้นเพื่อตอบโจทย์พลังงานสะอาดของประเทศ กพช.จึงได้เห็นชอบให้รับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น โดยจะไม่ทำให้ค่าไฟฟ้าประชาชนแพงขึ้นแต่อย่างใด และยังช่วยให้ไทยก้าวไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี พ.ศ. 2593 ด้วย