อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เผยการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช
(แปลง G2/61) จากระบบสัมปทานเพื่อเริ่มต้นสัญญาใหม่แบ่งปันผลผลิต ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2566 เป็นไปอย่างราบรื่น โดยต้นทุนราคาก๊าซที่ลดต่ำลงจาก 279 – 324 บาทต่อล้านบีทียู เหลือ 172 บาทต่อล้านบีทียูจะช่วยให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศลดต่ำลงซึ่งประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าจะได้ประโยชน์
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยในช่วงเช้าของวันที่ 8 มี.ค.2566 ว่า การดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านของแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช (แปลง G2/61) ในส่วนของแปลง B16และ B17 จากระบบสัมปทานสู่ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC) ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ที่จะเริ่มต้นภายใต้สัญญาใหม่ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.2566 เป็นต้นไป สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องทุกขั้นตอน ไม่มีปัญหาขัดข้องใด ๆ โดยคาดว่าจะสามารถเร่งผลิตก๊าซธรรมชาติให้มากกว่าเป้าหมายของภาครัฐที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อชดเชยปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ลดลงของแปลง G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณเดิม)
ทั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้จัดตั้งวอร์รูม (War Room) เพื่อรองรับการบริหารจัดการสถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านในลักษณะบูรณาการ ร่วมกับผู้รับสัมปทานรายเดิม ผู้รับสัญญารายใหม่ และผู้รับซื้อปิโตรเลียม และส่งทีมเฉพาะกิจภาคสนาม จำนวน 3 ทีม คอยติดตาม ควบคุมสถานการณ์อย่างใกล้ชิดบนแท่นผลิตในทะเลอ่าวไทย โดยประจำที่แท่นผลิตกลางบงกชใต้ แท่นผลิตกลางบงกชเหนือ และเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวปทุมพาหะ เพื่อตรวจสอบปริมาณการผลิตปิโตรเลียมรอบสุดท้ายในช่วงเวลาก่อนหมดอายุสัมปทาน รวมทั้งวัดปริมาณปิโตรเลียมที่คงค้างในเรือกักเก็บ ก่อนที่จะมีการส่งมอบให้กับผู้รับสัญญารายใหม่อย่างเป็นทางการ
โดยอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติ ณ วันสิ้นสุดสัมปทานของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข 16 และ 17 (แปลง G2/61) อยู่ที่ 678 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เมื่อรวมกับอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของแปลง G2/61 (แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข 15 ที่ดำเนินงานภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 65 ที่ผ่านมา) จำนวน 190 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ดังนั้น อัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของแปลง G2/61 จึงอยู่ที่ 868 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต จะทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติที่ได้จากแปลง G2/61 ปรับลดลงประมาณ 107-152 บาทต่อล้านบีทียู (ปรับจาก 279 – 324 บาทต่อล้านบีทียู ลดลงเหลือ 172 บาทต่อล้านบีทียู) คิดเป็นมูลค่าประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท (ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม – ธันวาคม 2566) ซึ่งจะทำให้ก๊าซธรรมชาติที่ส่งไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า มีต้นทุนที่ลดลง
สำหรับแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช เป็นหนึ่งในแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย ได้สร้างรายได้ให้แก่รัฐในรูปแบบค่าภาคหลวงปิโตรเลียม และรายได้อื่น ๆ (ค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาผลิต) เป็นมูลค่ากว่า 230,000 ล้านบาท และจะยังคงสร้างรายได้ และความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างต่อเนื่องภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต