คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) มีมติปรับลดราคาดีเซลรอบ 2 อีก 50 สตางค์ต่อลิตร มีผล 22 ก.พ. 2566 นี้ หลังราคาน้ำมันโลกปรับลดลง และกองทุนน้ำมันฯ มีเงินไหลเข้า 2-3 พันล้านบาทต่อสัปดาห์ พร้อมสั่งเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลเกรดพรีเมียมเข้ากองทุนฯ เพิ่มอีก 1 บาทต่อลิตร มีผล 22 ก.พ. 2566 เช่นกัน เพื่อให้กองทุนฯมีเงินไหลเข้าเพิ่ม มั่นใจผู้ใช้รถหรูที่เติมดีเซลเกรดพรีเมียมมีกำลังจ่ายได้ ย้ำจะพิจารณาปรับราคาดีเซลเป็นรายสัปดาห์ ชี้มีโอกาสปรับลดราคาได้อีกหากราคาน้ำมันโลกลดลงและกองทุนฯ มีสภาพคล่องเพียงพอ
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2566 มีมติให้ปรับลดราคาดีเซลลงอีก 50 สตางค์ต่อลิตร โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 2566 โดยการปรับลดราคาดีเซลดังกล่าวถือเป็นการปรับลดราคารอบ 2 หลังจากปรับลดครั้งแรกไปในวันที่ 15 ก.พ. 2566 โดยปัจจุบัน ณ วันที่ 15 ก.พ. 2566 ราคาขายปลีกดีเซลจำหน่ายอยู่ที่ 34.44 บาทต่อลิตร ดังนั้นในวันที่ 22 ก.พ. 2566 ราคาจะลดลงเหลือ 33.94 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้การปรับลดราคาดีเซลดังกล่าวเกิดจาก สกนช. ได้รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลโลกเฉลี่ยระหว่าง 1-13 ก.พ. 2566 พบว่าราคาปรับลดลงเหลือ 106.29 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ประกอบกับสภาพคล่องทางการเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายได้ประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อสัปดาห์ ดังนั้น กบน.จึงมีมติให้ปรับลดราคาดีเซลในวันที่ 22 ก.พ. 2566 ดังกล่าว
สำหรับราคาดีเซลได้ปรับลดลงครั้งแรกวันที่ 15 ก.พ. 2566 โดยลดลง 50 สตางค์ต่อลิตร ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่มีการปรับขึ้นราคาดีเซลสูงสุดถึง 35 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. 2565 และในวันที่ 22 ก.พ. 2566 จะถือเป็นการปรับลดราคาเป็นรอบที่ 2 ภายในเดือนเดียวกัน
นอกจากนี้ กบน. ยังมีมติให้เรียกเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลเกรดพรีเมียมเข้ากองทุนฯ เพิ่มอีก 1 บาทต่อลิตร จากเดิมเรียกเก็บอยู่ 50 สตางค์ต่อลิตร รวมเป็น 1.50 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 2566 นี้ ดังนั้นปัจจุบันที่กองทุนฯ เรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ดีเซลเกรดพรีเมียมอยู่ที่ 6.22 บาทต่อลิตร (หากไม่มีการปรับเปลี่ยนอัตราจนถึงวันที่ 21 ก.พ. 2566 ) จะส่งผลให้ในวันที่ 22 ก.พ. 2566 ผู้ใช้ดีเซลเกรดพรีเมียมต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเพิ่มอีก 1 บาทต่อลิตร เท่ากับต้องจ่ายเป็น 7.22 บาทต่อลิตร ส่วนผู้ใช้ดีเซลธรรมดาปัจจุบันถูกเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ อยู่ 5.72 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้เนื่องจาก กบน.พิจารณาเห็นว่ากลุ่มผู้ใช้ดีเซลเกรดพรีเมียมเป็นกลุ่มรถหรู ที่มีศักยภาพจะจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ได้ ประกอบกับจำนวนผู้ใช้ดีเซลเกรดพรีเมียมมีจำนวนน้อย โดยมียอดใช้เพียง 1% หรือ 7-9 แสนลิตรต่อวัน เมื่อเทียบกับผู้ใช้ดีเซลธรรมดาที่มีถึง 67-70 ล้านลิตรต่อวัน จึงไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากนัก และยังช่วยให้กองทุนฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นได้ด้วย
นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า การที่ กบน. กำหนดให้ลดราคาดีเซลในวันที่ 22 ก.พ. 2566 เนื่องจากต้องการให้ผู้ค้าน้ำมันได้มีเวลาปรับปริมาณสำรองน้ำมันจากการซื้อขายน้ำมัน โดยให้เวลา 1 สัปดาห์ล่วงหน้า เพื่อป้องกันปัญหาขาดทุนจากการสั่งปรับลดราคาดีเซลของภาครัฐ ส่วนในอนาคตจะมีการปรับลดราคาดีเซลอีกหรือไม่นั้น กบน.จะพิจารณาเป็นรายสัปดาห์และประกาศล่วงหน้าเช่นกัน แต่ต้องดูความเหมาะสมของฐานะกองทุนฯ และทิศทางราคาน้ำมันโลกประกอบการตัดสินใจเป็นหลัก
สำหรับฐานะกองทุนฯ ปัจจุบัน ณ วันที่ 12 ก.พ. 2566 กองทุนฯ ยังคงติดลบรวม 108,610 ล้านบาท ซึ่งมาจากการชดเชยราคาน้ำมันรวม 62,895 ล้านบาท และชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) รวม 45,715 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามปัจจุบันกองทุนฯ เริ่มมีรายรับเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อสัปดาห์ จากการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมัน ขณะที่มีรายจ่ายจากการชดเชยราคา LPG ประมาณ 23 ล้านบาทต่อวัน เพราะยังต้องชดเชยราคา LPG ขายปลีกอยู่ประมาณ 8 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้ราคาจำหน่ายปลีกอยู่ที่ 408 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัมถึงสิ้นเดือน ก.พ. 2566 ก่อนจะปรับขึ้นเป็น 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2566
นอกจากนี้กองทุนฯ ยังมีรายจ่ายประจำให้ผู้ค้ามาตรา 7 ประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้น กองทุนฯ ยังจำเป็นต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอกระบวนการภาครัฐบรรจุวาระให้กู้อีก 8 หมื่นล้านบาท จากเดิมกู้ไปแล้ว 3 หมื่นล้านบาท จากกรอบวงเงินรวมทั้งหมดที่สามารถกู้ได้ 1.5 แสนล้านบาท เพื่อมาเสริมสภาพคล่องทางการเงินของกองทุนฯ ต่อไป