กกพ.เร่งปรับค่า Ft ใหม่งวด ม.ค.-เม.ย. 2566 เป็น 2 อัตรา ให้ภาคครัวเรือนใช้ราคาถูกตามมติ กพช. คาดประกาศได้สัปดาห์หน้า

13036
ขอบคุณภาพจาก กฟผ.
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เตรียมสรุปอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ในสัปดาห์หน้า ระบุแนวทางเบื้องต้นต้องจัดทำค่า Ft แยกสองส่วนระหว่างกลุ่มบ้านอยู่อาศัย และกลุ่มอื่นๆ เหตุคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่ผ่านมาให้ดูแลค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนก่อน ยอมรับอัตรา Ft ที่เปิดรับฟังความเห็นไว้จะต้องปรับใหม่หมด แต่ยังใช้เป็นแนวทางอ้างอิงราคาได้ โดยแนวโน้มจะเลือกกรณีชำระหนี้คืน กฟผ.บางส่วน ในการคำนวณค่า Ft ยืนยันพร้อมศึกษาแนวทางคิดค่าไฟฟ้าแบบขั้นบันไดสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าเกิน 500 หน่วยต่อเดือน แต่ยังไม่นำมาใช้ในงวดนี้ 

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เตรียมประชุมสรุปค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 ในสัปดาห์หน้า เพื่อให้ทันกับการคิดค่าไฟฟ้ารอบบิล ม.ค. 2566 นี้ แม้ค่า Ft ในงวดดังกล่าวจะมีการพิจารณาล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ว่าต้องพิจารณาให้เสร็จก่อนรอบบิลใหม่ 1 เดือน หรือต้องพิจารณาให้เสร็จตั้งแต่เดือน พ.ย. 2565 ที่ผ่านมาแล้ว แต่เนื่องจากมีมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ผ่านมากำหนดให้ต้องปรับแก้ไขในการคิดค่า Ft ใหม่ จึงทำให้ กกพ.ดำเนินการล่าช้ากว่ากำหนด และ กกพ.ได้ส่งหนังสือไปยังการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. , การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.) แล้วว่า กกพ.จะประกาศค่า Ft ในรอบนี้ล่าช้า แต่จะเสร็จก่อนเดือน ม.ค. 2566 แน่นอน

สำหรับการคิดค่า Ft งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 นี้ จำเป็นต้องแยกค่า Ft เป็น 2 ส่วน ได้แก่ ค่า Ft สำหรับกลุ่มบ้านอยู่อาศัย และค่า Ft สำหรับกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่บ้านอยู่อาศัย เนื่องจากมติ กพช. เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2565 กำหนดให้จัดสรรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยหลังเข้าโรงแยกก๊าซฯ มาใช้ผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยก่อน โดยให้ กกพ.ไปคำนวณค่า Ft สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยใหม่ และให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไปคิดราคาก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. , ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก ( SPP) ในระดับราคาเดียวกับที่ใช้การประมาณการค่าไฟฟ้า Ft ตามสูตร

- Advertisment -

โดยมติดังกล่าวส่งผลให้ค่า Ft ในงวดที่จะถึงนี้ต้องแยกเป็น 2 ส่วน และเป็นครั้งแรกที่ดำเนินการแบบนี้ โดย กกพ. จะต้องปรับปรุงวิธีการคิดค่า Ft ใหม่ ดังนั้นอัตราที่ประกาศไว้ในการรับฟังความเห็นค่า Ft งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 จึงต้องปรับใหม่ และไม่สามารถใช้อัตราดังกล่าวที่ประกาศไว้ทั้ง 3 กรณีได้ แต่ยังคงใช้อ้างอิงในการพิจารณาค่า Ft ที่จะเกิดขึ้นใหม่ได้อยู่

ซึ่งค่า Ft ที่เปิดรับฟังความเห็นในเดือน พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ได้กำหนดเป็น 3 ทางเลือก ได้แก่  กรณีที่ 1 ค่าFt ปรับขึ้น 224.98 สตางค์ต่อหน่วย โดยมาจากการประมาณการต้นทุนที่จะต้องปรับขึ้น 158.31 สตางค์ต่อหน่วย บวกด้วยส่วนที่ กฟผ.จ่ายชดเชยให้ไปก่อนบางส่วน 66.67 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อให้ กฟผ.ได้รับเงินคืนครบทั้งหมดภายใน 1 ปี โดยยังเหลือภาระที่จะต้องทยอยคืน กฟผ. อีกประมาณ 81,505 ล้านบาทกรณีนี้จะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยโดยรวม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นจาก 4.72 บาทเป็น 6.03 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 2 ปรับขึ้นค่า Ft จำนวน 191.64 สตางค์ต่อหน่วย โดยลดส่วนที่จะทยอยคืน กฟผ.เหลือ 33.33 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ.ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี โดยยังเหลือภาระที่จะต้องทยอยคืน กฟผ. อีกประมาณ 101,881 ล้านบาท กรณีนี้จะทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.70 บาทต่อหน่วย

และกรณีที่ 3 ค่า Ft เรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย โดยยังไม่มีการจ่ายเงินคืน กฟผ.ในงวดนี้ทำให้ กฟผ.ต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนไปก่อนจำนวน 122,257 ล้านบาท และค่าไฟฟ้าโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.37 บาทต่อหน่วย

เบื้องต้นคาดว่า กกพ.อาจพิจารณาเลือก กรณีที่ 2 ที่ปรับขึ้นค่า Ft โดยมีการจ่ายคืน กฟผ. บางส่วน เพื่อไม่ให้ กฟผ. ขาดสภาพคล่องทางการเงิน แต่อัตราค่าไฟฟ้า 5.70 บาทต่อหน่วยต้องปรับใหม่ โดยจะคิดค่า Ft ในส่วนของกลุ่มบ้านอยู่อาศัย แตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ ซึ่งค่า Ft กลุ่มบ้านอยู่อาศัยจะถูกกว่ากลุ่มอื่นๆแน่นอน ส่วน กกพ.จะใช้วิธีการคิดค่า Ft ดังกล่าวกี่งวดนั้น ขึ้นกับการพิจารณาของคณะกรรมการ (บอร์ด) กกพ.ต่อไป

สำหรับมติ กพช. ให้ กกพ.ไปศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าเกิน 500 หน่วยต่อเดือน ให้คิดเป็นอัตราแบบขั้นบันไดเพื่อให้เกิดการประหยัดไฟฟ้านั้น ทาง กกพ.ก็พร้อมนำไปศึกษา แต่จะยังไม่ใช้ในบิลค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 นี้  เนื่องจากการศึกษาจะต้องเปิดรับฟังความเห็น และกระบวนการต่างๆ อีกมาก รวมทั้งต้องพิจารณาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจด้วย  

Advertisment