หลายคนคงเคยได้ยินการถกเถียงกันเรื่องปริมาณปิโตรเลียมในอ่าวไทย ที่บางกลุ่มเชื่อว่ามีปริมาณมากมาย ขุดเจาะสำรวจและนำผลผลิตขึ้นได้ง่ายๆ แบบให้ใครมาทำก็ทำได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากได้ฟังจากคนในวงการปิโตรเลียม หรือได้มีโอกาสมาทำความเข้าใจกระบวนการผลิตที่แท้จริง จะรู้และเข้าใจว่าการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมหนึ่งแห่งจนสามารถผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อนำพลังงานที่ผลิตได้ไปให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ต้องใช้เวลา มีการลงทุนที่สูง และมีความเสี่ยงทางธุรกิจไม่น้อย
ทีมข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) ได้มีโอกาสลงมาดูแท่นผลิตปิโตรเลียมเอราวัณกลางอ่าวไทย สถานที่จริงในการผลิตปิโตรเลียม และได้รับฟังข้อมูลจากผู้บริหารของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งเป็นโอเปอเรเตอร์ในแหล่งนี้ จึงอยากบอกต่อว่าการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในแต่ละแหล่ง โดยเฉพาะที่แหล่งเอราวัณแห่งนี้ ต้องใช้เวลานาน ใช้เงินลงทุนมาก และมีความเสี่ยงสูงในการลงทุน
ที่กล่าวว่าการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมต้องใช้เวลานานนั้น เพราะมีหลายขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ เริ่มต้นตั้งแต่การสำรวจธรณีวิทยาขั้นต้นเพื่อหาองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียม อาทิ หินต้นกำเนิด หินกักเก็บ หินปิดกั้น เพื่อดูโครงสร้างการกักเก็บปิโตรเลียม ขั้นตอนถัดมาจึงเป็นการสำรวจขั้นละเอียดด้วยวิธีการวัดคลื่นความไหวสะเทือน 3 มิติ และแปลผลข้อมูลออกมา เพื่อให้ได้ภาพที่จำลองโครงสร้างใต้ดินที่เสมือนจริงมากที่สุด เมื่อมีความมั่นใจมากกว่า 90% จึงจะลงมือเจาะหลุมสำรวจ ซึ่งตั้งแต่เริ่มต้นสำรวจจนถึงการเจาะหลุมใช้เวลาประมาณ 3 ปี และใช้เงินลงทุนมากถึง 400-900 ล้านบาท
ในขั้นตอนการเจาะหลุมสำรวจที่มีความลึก 2-3 กิโลเมตร ถ้าไม่พบปิโตรเลียมก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่สูญเปล่าและบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานก็ต้องรับภาระความเสี่ยงการลงทุนในส่วนนี้ไป แต่หากสำรวจพบปิโตรเลียม ในขั้นต่อไปก็จะต้องใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 4 ปี ในการประเมินปริมาณและความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ ซึ่งถ้าพบปิโตรเลียมแต่ประเมินแล้วไม่คุ้มค่ากับการผลิตขึ้นมา ผู้รับสัมปทานก็ต้องรับความเสี่ยงจากเงินลงทุนที่จะสูญเสียไปราว 1,200-2,700 ล้านบาท ธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจึงถือว่าเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ โดยทั่วไป
*ขอบคุณข้อมูลภาพจาก GeoThai.net
ในกรณีที่สำรวจพบปิโตรเลียมและประเมินแล้วว่ามีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ เอกชนผู้รับสัมปทานก็จะพัฒนาต่อให้เป็นแหล่งผลิตปิโตรเลียม โดยจะมีการสั่งทำแท่นผลิต แท่นที่อยู่อาศัย ท่อส่งก๊าซ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังเช่นที่ “เอราวัณ คอมเพล็กซ์” ในปัจจุบัน รวมทั้งมีการทำสัญญาซื้อขายก๊าซกับผู้รับซื้อ ซึ่งขั้นตอนนี้ จะใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปี และใช้เงินลงทุนรวมๆกันทั้งหมดประมาณ 9,000-60,000 ล้านบาท และเมื่อดำเนินการผลิตไปแล้ว ปริมาณปิโตรเลียมในหลุมลดลง ก็จำเป็นต้องมีการสำรวจและเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติม เพื่อรักษาระดับปริมาณการผลิตปิโตรเลียมให้เป็นไปตามสัญญาที่กำหนดไว้กับผู้ขาย
ยกตัวอย่างกรณีของแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณที่สำรวจพบก๊าซธรรมชาติครั้งแรกในปี 2516 นั้น ก็ต้องใช้เวลาอีกถึง 8 ปี กว่าจะสามารถผลิตและซื้อขายในเชิงพาณิชย์ได้เป็นครั้งแรกในปี 2524 แล้วนับจากนั้นก็ต้องสำรวจและเจาะหลุมผลิตอย่างต่อเนื่อง
คุณไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด อธิบายว่า โครงสร้างธรณีวิทยาใต้ท้องทะเลอ่าวไทยนั้นเป็นชั้นหินทรายที่เกิดจากการสะสมตัวกันของตะกอน และมีรอยเลื่อนตัดผ่านทำให้เกิดเป็นลักษณะของหินกักเก็บปิโตรเลียมกระเปาะเล็กๆ กระจัดกระจายและไม่มีความต่อเนื่องเป็นแผ่นเดียวกัน จึงมีความซับซ้อน อีกทั้งแต่ละกระเปาะยังมีอัตราการเสื่อมถอยของผลผลิตสูง ดังนั้นการเจาะหลุมผลิตจึงต้องการนักธรณีวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญในการแปลผลข้อมูลให้ได้ความแม่นยำสูง ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อให้สามารถเจาะหลุมเพียงครั้งเดียว แต่สามารถที่จะเข้าถึงแหล่งกักเก็บซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในกระเปาะต่างๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้สามารถนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาในปริมาณที่คุ้มกับการลงทุน ซึ่งถือเป็นความท้าทายของโอเปอร์เรเตอร์ทุกรายในอ่าวไทย
“สิ่งที่บริษัทผู้รับสัมปทานอย่างเชฟรอนพยายามทำมาโดยตลอดคือการพัฒนาเทคโนโลยีการขุดเจาะหลุมผลิตให้สามารถเจาะแต่ละหลุมได้รวดเร็ว เพราะแต่ละปีเราต้องใช้จำนวนหลุมเยอะ เพื่อรักษาระดับปริมาณการผลิตเอาไว้ให้ได้ตามสัญญา เพราะผลผลิตลดลงไปทุกวัน จึงต้องหาจากแหล่งใหม่มาเติมอยู่เรื่อยๆ ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ต้องวางแผนล่วงหน้า ซึ่งทั้งหมด ผู้รับสัมปทานต้องลงทุนล่วงหน้าไปก่อน เป็นความเสี่ยงของบริษัท ดังนั้นการทำงานทุกขั้นตอนจึงต้องให้มั่นใจ” คุณไพโรจน์ บอกกับทีมข่าว ENC
ปัจจุบันเชฟรอนเป็นโอเปอเรเตอร์อยู่ในแหล่งผลิตปิโตรเลียมทั้งหมดจำนวน 12 แปลงซึ่งรวมทั้งแหล่งผลิตเอราวัณ และเป็นผู้ร่วมทุนอีก 4 แปลง ผลิตก๊าซธรรมชาติป้อนภายในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า ปริมาณ 1,750 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน และผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลวหรือคอนเดนเสทอยู่ที่ 61,695 และ 61,484 บาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ (ข้อมูล ณ เดือน พ.ค. 2561) โดยปริมาณก๊าซที่เชฟรอนผลิตได้ คิดเป็น 1 ใน 3 ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศ นับเป็นหนึ่งในเฟืองจักรสำคัญของการขับเคลื่อนความมั่นคงทางพลังงานของไทย
(โปรดติดตามตอนต่อไป)