เลขาธิการEEC เผยเอกชนหลายรายร่วมลงทุนตั้งLabในEECi ของกลุ่มปตท.

781
- Advertisment-

เลขาธิการEEC ประกาศพร้อมเดินหน้าหนุนการพัฒนา เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)ของกลุ่มปตท.ที่จะใช้วงเงินลงทุนกว่า4,100ล้านบาท  เผยขณะนี้มีภาคเอกชนหลายรายเข้าร่วมลงทุนตั้งศูนย์วิจัยและห้องปฏิบัติการ (Lab) เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัยของประเทศแล้ว พร้อมยืนยันหลังเลือกตั้งได้รัฐบาลใหม่ จะไม่กระทบต่อแผนการดำเนินงาน เนื่องจากนายกรัฐมนตรีจะนั่งเป็นประธาน EEC โดยตำแหน่ง

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยในการแถลงข่าวเมื่อวันที่22มี.ค.ว่า การทำงานในปี 2562 ซึ่งถือเป็นปีที่ 3 ของการขับเคลื่อนแผนการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทางสำนักงานEECจะเดินหน้าภารกิจต่อเนื่องจากช่วง 2 ปีแรก โดยจะผลักดัน 5 โครงสร้างพื้นฐานให้ได้ผู้ลงทุนภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติและเซ็นสัญญาโครงการต่อไป ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนเป็นมูลค่ารวม 650,000 ล้านบาท และจะเร่งรัดการลงทุน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เงินลงทุน 500,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะสร้างงานใหม่ ไม่น้อยกว่า 450,000 ตำแหน่ง

ขณะเดียวกัน จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ให้เดินหน้าตามแผนงาน หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ทำพิธีเปิดหน้าดินโครงการEECi บนพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ 3,455 ไร่ จังหวัดระยอง เพื่อส่งสัญญาณการดำเนินโครงการEECi เฟสแรกอย่างเป็นทางการ โดยกลุ่ม ปตท. ได้ประกาศแผนการลงทุนEECi ระยะ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2562-2566 ภายใต้เงินลงทุน 4,100 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภครองรับการลงทุนด้านนวัตกรรมในพื้นที่ และขณะนี้ มีเอกชนหลายราย อาทิ บริษัทจาก ญี่ปุ่น เยอรมนี และจีน ทยอยเข้ามาตั้งศูนย์วิจัยและห้องปฏิบัติการ (Lab) เช่น ด้านไบโอชีวภาพ ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการวิจัยของประเทศแล้ว

ทั้งนี้ EECiจะเริ่มการก่อสร้างในปี 2562 และคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือประมาณปี 2564 ขณะนี้จะใช้พื้นที่อาคารเดิมของ ปตท. รองรับการลงทุนด้านการวิจัยของบริษัทต่างๆ ระหว่างรอการก่อสร้างศูนย์วิจัยแห่งใหม่แล้วเสร็จ

- Advertisment -

เลขาธิการEEC กล่าวยืนยันด้วยว่าการเลือกตั้ง แม้ได้รัฐบาลใหม่ ก็ไม่มีผลกระทบต่อแผนการลงทุน เนื่องจากมีกฎหมายรองรับ และนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานคณะกรรมการEECโดยตำแหน่ง ซึ่งคาดว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะดำเนินการในช่วงเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนนี้ และเชื่อว่าพรรคการเมืองต่างๆ จะเห็นประโยชน์ของโครงการEECที่ผ่านมาว่าช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างมาก

ก่อนหน้านี้ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงโครงการEECi ว่า ปตท.ต้องการสร้างให้เป็นระบบนิเวศนวัตกรรม (Eco System) เพื่อสร้างนวัตกรรมของประเทศ โดยมีโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยชั้นนำ ที่จะมารองรับแผนยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี เพื่อก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ด้วยการมีนวัตกรรมของตนเองและมีรายได้ที่สูงขึ้น

โดยการสร้างระบบ Eco System บนพื้นที่กว่า 3,500 ไร่ ของ EECi นั้น ปตท.ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สร้างศูนย์นวัตกรรมใหม่ให้กับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันนอก (EEC) มีบริษัทเอกชนชั้นนำเข้ามาลงทุนเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศทั้งด้านอุตสาหกรรมและด้านการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น Smart Farmer, Smart City, Smart Material, Internet of Thing (iOT), Robotic AI, Bio Economy, Bio Plastic หรือ Bio Fuel

ทั้งนี้ ปตท. มีแผนจะดึงบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะบริษัทพันธมิตรที่เป็นคู่ค้า อาทิ IBM, Microsoft, Huawei, Cisco, SAP และอูเบะ เป็นต้น

Advertisment