งานพลังงานและเทคโนโลยีแห่งเอเชียประจำปี 2565 หรือ SETA 2022 อ่านออกเสียงว่า เซต้า ปีนี้ จัดขึ้นพร้อมๆกับงาน Solar+Storage Asia 2022 (งานพลังงานโซลาร์และระบบกักเก็บพลังงานแห่งเอเชียประจำปี 2565) และงาน Enlit Asia 2022 (งานระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าและระบบกริดแห่งเอเชีย 2022) หรือ เอ็นลิท เอเซีย ที่ Hall 100-104 ศูนย์ประชุมและนิทรรศการไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 20-22 ก.ย. 2565 ใครที่ได้อ่านบทความนี้จบแล้วสนใจอยากจะไปชมงาน ก็ยังเหลือวันที่ 22 ก.ย.อีกวัน สามารถ walk in ลงทะเบียนที่หน้างานแล้วก็เข้าชมงานได้เลย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ก่อนที่จะเข้างานในวันเปิดงานวันแรก (20 ก.ย.) ผมมีโอกาสได้ฟังคุณประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ซึ่งวันที่ 1 ต.ค.นี้จะย้ายไปเป็น รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะหนึ่งหน่วยงานที่สนับสนุนการจัดงานดังกล่าว ตอบคำถามสื่อมวลชนที่มาสัมภาษณ์ว่า เราจะได้ประโยชน์อะไรจากการจัดงานแบบนี้ที่ประเทศไทย คำตอบก็คือธุรกิจภาคเอกชนที่อยู่ในแวดวงพลังงานรวมทั้งสถาบันการศึกษาที่สอนนักศึกษาในวิชาที่เกี่ยวข้อง สามารถที่จะเข้ามาอัพเดทเทคโนโลยี่ นวัตกรรมด้านพลังงาน จากเจ้าของเทคโนโลยีหรือตัวแทน และเลือกไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจหรือการศึกษาค้นคว้าของตัวเองได้จากหลากหลายบริษัทที่มาออกบูธแสดงพร้อมกันในงานเดียว โดยไม่ต้องเสียค่าเครื่องบินเดินทางไปดูงานที่ต่างประเทศประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
งานปีนี้ถือว่าจัดได้ยิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมา เพราะ ผู้จัดงานฝั่งไทยคือ บริษัทแกท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ไปจับมือกับทางสิงคโปร์ คือ บริษัท แคริออน อีเวนท์ จำกัด เลยสามารถรวมเอา 3 งานใหญ่ที่เคยแยกกันจัด มาจัดพร้อมกันในไทยได้
บูธแรก ที่เดินเข้าไปชมคือของ กลุ่ม ปตท. ที่อัพเดทข้อมูลเรื่องการทำธุรกิจทั้งหมดของ ปตท.ว่าแต่ละบริษัทในกลุ่มใครทำอะไรบ้าง และอะไรที่เป็นธุรกิจใหม่ภายใต้วิสัยทัศน์ ทั้ง Future Energy และ Beyond Energy อ่านครบทุกบอร์ด สามารถจะเข้าใจภาพการทำธุรกิจทั้งหมดของ ปตท. ได้เลย
ส่วนที่จัดเป็นศาลาหรือ Pavilion เลย จะมีทั้งของ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ชมงานในการไปติดต่อสอบถามข้อมูลคึกคักพอสมควร
ส่วนบูธที่ทางผู้จัดงานคือคุณ นภปฎล สุขเกษม นำชมเอง คือของ GFE ที่ทำโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ด้วย Pyrolysis Technology เปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นน้ำมัน เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เป็นโครงการขนาด 9.6 เมกะวัตต์ ที่อุดรธานี ซึ่งใกล้จะเปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในเร็วๆนี้
ในบูธเดียวกันนี้ ยังนำเครื่องแปรสภาพเศษอาหารให้เป็นสารปรุงดินภายใน 24 ชั่วโมง ชื่อ Klaren ใส่เศษอาหารเหลือทิ้งได้ ครั้งละไม่เกิน 3 กิโลกรัม เครื่องแบบนี้แม่บ้านคงชอบที่ไม่ต้องทิ้งเศษอาหารให้เป็นขยะ แต่นำมาใช้ประโยชน์ปรุงดินปลูกต้นไม้ในบ้านให้งอกงามได้ โดยที่มีราคาพิเศษให้ส่วนลดเยอะถ้าซื้อในงาน
เดินไปในฝั่งงานโซลาร์และระบบกักเก็บพลังงานและงานเอ็นลิท เอเซีย ที่จัดบูธเสมือนเดินอยู่ในงานเดียวกัน ก็จะเป็นเทคโนโลยีจากหลายบริษัทที่เกี่ยวกับแผงโซลาร์เซลล์ ระบบอินเวอร์เตอร์ แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ระบบสมาร์ทมิเตอร์ มีบิ๊กเนมใหญ่ๆที่มาออกบูธด้วย เช่น มิตซูบิชิ เพาเวอร์ จีอี ฮุนได โททาล เอ็นเนอยี่ คาลเท็กซ์ หัวเหว่ย
นอกเหนือจากการออกบูธแสดงเทคโนโลยีด้านพลังงานแล้ว ที่น่าสนใจมากคือเวทีสัมมนาที่มีแต่หัวข้อที่น่าสนใจตอบโจทย์ผู้ชมงานใน 3 เวที จาก3 งาน ให้เลือกเข้าฟัง ซึ่งจะมีรายละเอียดให้อ่านก่อนเข้าชมงานอยู่แล้วว่าแต่ละวันจะมีหัวข้ออะไรบ้างและวิทยากรบนเวทีที่จะมาพูดเป็นใครจากหน่วยงานไหน
ผมมีโอกาสไปนั่งฟังเวทีสัมมนาเกี่ยวกับ พลังงานนิวเคลียร์ จากเทคโนโลยี SMR (Small Modular Reactor) ที่มีการพัฒนาและดีไซน์ให้มีขนาดเล็กลงเพื่อใช้ในนิคมอุตสาหกรรม และทดลองใช้ในบางประเทศแล้ว โดยบริษัท NUSCALE ของสหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าของเทคโนโลยีนิวเคลียร์รุ่นใหม่นี้ ก็ทำให้รู้ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ทั้งในภาคการศึกษา อย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาครัฐที่กำกับดูแล อย่างสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และผู้ที่จะเลือกใช้ในอนาคตอย่าง กฟผ.เพื่อตอบโจทย์ความเป็นกลางทางคาร์บอน ให้กับประเทศนั้น มีการติดตามดูเทคโนโลยีและเตรียมกฏระเบียบเอาไว้รองรับ ได้ดีพอสมควร แบบถ้ารัฐบาลกดปุ่มเรื่องนี้เมื่อไหร่ ประชาชนให้การยอมรับ ก็พร้อมผลักดันสู่ภาคปฏิบัติได้เลย
ยังมีอีกหลายหัวข้อสัมมนาที่เป็นไฮไลต์สำคัญคือ “ผ่าแผนนโยบายพลังงานชาติฉบับใหม่ กับเส้นทางเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย ทั้งสี่ด้าน :ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน” ในวันที่ 21 ก.ย. ที่บอกว่าหัวข้อเรื่องแผนนโยบายพลังงานชาติ สำคัญเพราะเป็นตัวกำหนดทิศทางการลงทุนทางด้านพลังงานของประเทศในอนาคต เพื่อให้ภาคธุรกิจพลังงานได้เตรียมความพร้อม
ผู้จัดงานตั้งเป้าว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 15,000 คน จากทั้งในและต่างประเทศกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในสถานการณ์ที่ไทยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่แล้ว ก็ต้องรอฟังตัวเลขจากทางผู้จัดว่าจะได้ตัวเลขผู้เข้าชมตามเป้าหรือไม่ แต่ที่ไปเดินดูมาด้วยตัวเอง บริษัทต่างๆที่มาออกบูธนั้นเต็มพื้นที่ ทั้ง Hall 100-104 น่าดีใจแทนผู้จัด