จังหวัดชุมพร ร่วมกับ กฟผ. และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร จัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลน ยกขบวนชวนเยาวชนปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม มุ่งสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ป่า เพื่อร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมและอากาศที่ดีครบ 1 ล้านไร่ ตามเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2574
วานนี้ (12 กันยายน 2565) จังหวัดชุมพร ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร จัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลนภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม โดยมี นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พร้อมด้วย ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. คณะผู้บริหารหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ชุมชนในพื้นที่ นักเรียน และกลุ่มเยาวชน กว่า 400 คน ร่วมกันยกขบวนชวนปลูกป่า ณ พื้นที่ป่าชายเลนอ่าวทุ่งคา-สวี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร จังหวัดชุมพร
นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า จังหวัดชุมพรให้ความสำคัญและสนับสนุนนโยบายการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ. นับเป็นโครงการสำคัญที่สร้างประโยชน์ในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอน และเน้นการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ นับเป็นความร่วมมือและการรวมพลังของทุกฝ่าย ช่วยกันส่งเสริมและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ตลอดจนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจและสังคมของคนในชุมชนโดยเฉพาะในจังหวัดชุมพร สามารถนำไปต่อยอดและขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ได้อย่างยั่งยืน
ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า กิจกรรมปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ.ได้นำกลุ่มเยาวชนจากกิจกรรม “ยกขบวน ชวนปลูกป่า” ที่ร่วมสนุกสแกนต้นไม้ผ่านแอปพลิเคชัน ECOLIFE เดินทางด้วยรถไฟมาร่วมปลูกป่าชายเลนที่จังหวัดชุมพร ร่วมกับเยาวชนและชุมชนชาวชุมพร เพื่อสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์และเห็นความสำคัญของป่าให้กับคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปลูกป่าในใจเยาวชน ให้เป็นผู้อนุรักษ์และดูแลป่าต่อไปในอนาคต
การปลูกป่าในครั้งนี้ จะปลูกต้นโกงกางใบใหญ่ และโกงกางใบเล็ก จำนวน 4,000 ต้น บนพื้นที่ 7 ไร่ ในพื้นที่ป่าชายเลนอ่าวทุ่งคา-สวี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร จังหวัดชุมพร เพื่อพลิกฟื้นบ่อเลี้ยงปลา ที่มีสภาพเป็นดินโคลนและเสื่อมโทรมให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ กลายเป็นปราการธรรมชาติสีเขียวป้องกันการกัดเซาะของน้ำทะเลและเป็นแนวกำบังคลื่นชายฝั่งด้วย นอกจากนี้ ยังมีความสำคัญต่อการวางไข่และฟักตัวของสัตว์น้ำทะเล เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนให้เติบโต รวมทั้งเป็นแหล่งอาหาร และสร้างอาชีพให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืน
โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ. มีเป้าหมายในการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม 1 ล้านไร่ ภายในเวลา 10 ปี ระหว่าง ปี 2565 –2574 และบำรุงรักษาต่อเนื่องอีก 9 ปี ครอบคลุมพื้นที่ทุกภาคของประเทศไทย ผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและพันธมิตรในการปลูก บำรุงรักษาป่า ตรวจติดตามอัตราการรอดตาย และอัตราการเติบโตของกล้าไม้ ร่วมกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการตรวจติดตาม เช่น ระบบดาวเทียม การใช้โดรน และการพัฒนา AI ติดตามการเติบโตของต้นไม้ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชน ป่าเศรษฐกิจ และป่าชายเลน สามารถชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ มากกว่า 1.2 ล้านตันต่อปี คาดว่าตลอดระยะเวลาโครงการฯ จะดูดซับกักเก็บคาร์บอนได้ทั้งสิ้นเกือบ 24 ล้านตัน CO2 เพื่อตอบสนองนโยบายมุ่งสู่ EGAT Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 หรือปี พ.ศ. 2593 พร้อมกันนี้ ขอเชิญชวนคนไทยหัวใจรักษ์โลก ปลูกต้นไม้ออนไลน์กับ กฟผ. ผ่าน Application “ECOLIFE” เพื่อหนุนนำประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนไปด้วยกัน