สมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย เสนอปลดล็อก ติดตั้งโซลาร์ฯผลิตไฟฟ้าทุกขนาดไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน รง.4 และทบทวนอัตราวิลลิ่งชาร์จ ให้จัดเก็บตามระยะทางสายส่ง เพื่อเอื้อต่อการเปิดเสรีผลิตไฟฟ้า
นายภูวดล สุนทรวิภาต นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย(TPVA) เปิดเผยว่า ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับใหม่ และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP ประเมินว่า ในอนาคตประเทศไทย จะมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า เพิ่มขึ้นเป็น 14,000 เมกะวัตต์ ภายใน 30 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบแล้วประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ และมีแผนจะรับซื้อตาม PDP ฉบับใหม่ อีกประมาณ 3,500 เมกะวัตต์ โดยส่วนใหญ่เป็นโซลาร์ฟาร์ม ส่วนกำลังการผลิตที่เหลือคาดว่า จะเป็นการติดตั้งจากภาคประชาชน ภาคอุตสาหกรรม และเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองโดยไม่ขายเข้าระบบ (IPS) หรือ Independent Power Supply
ทั้งนี้คาดว่าภาครัฐจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบภายในปี 2565 นี้ และน่าจะเห็นการยื่นแข่งขันเสนอโครงการผลิตไฟฟ้าที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งจะเป็นการแข่งขันด้านเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่แตกต่างกัน และลำดับการเปิดรับซื้อไฟฟ้านั้น ประเมินว่าจะกำหนดรับซื้อจากเชื้อเพลิงชีวมวล และเชื้อเพลิงชีวภาพ หรือ ไบโอแมส และไบโอแก๊ส ก่อน จากนั้นจะรับซื้อพลังงานลม พลังงานโซลาร์เซลล์ผสมกับแบตเตอรี่ แล้วจึงค่อยรับซื้อโซลาร์เซลล์ล้วน
ด้านต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มในปัจจุบัน เท่าที่ประเมินจากอัตรารับซื้อไฟฟ้า Feed-in Tariff หรือ FiT ที่กำหนดไว้ที่ 2.10 บาทต่อหน่วยนั้น จะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ซึ่งเป็นวงเงินที่ไม่รวมค่าที่ดิน และค่าสายส่ง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแผน PDP ฉบับใหม่ จะกำหนดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในปริมาณมาก แต่ก็ยังมีอุปสรรคสำหรับผู้ลงทุนติดตั้ง โดยเฉพาะเรื่องของกฎระเบียบ และการขอใบอนุญาตต่างๆ เช่น ปัจจุบันที่กำหนดให้ผู้ที่ติดตั้งโซลาร์ฯใช้เอง หากมีกำลังการผลิตติดตั้งเกิน 1 เมกะวัตต์ จะต้องมีการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) เพราะถูกกำหนดว่าเข้าข่ายโรงงาน
ดังนั้น สมาคมฯ จึงขอเสนอให้ภาครัฐ ปลดล็อกกฎระเบียบสำหรับการติดตั้งโซลาร์เซลล์ทุกขนาด ให้มีสิทธิ์เทียบเท่ากับการผลิตไฟฟ้าจากลม ที่ไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการติดตั้งแผงโซลาร์ฯผลิตไฟฟ้าใช้เองอย่างแพร่หลาย และสอดรับกับนโยบายเปิดเสรีไฟฟ้าในอนาคต แต่หากภาครัฐเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยนั้น ก็สามารถกำหนดเรื่องของมาตรฐานอุปกรณ์ต่างๆ กำกับไว้ได้ เช่น ระบบอินเวอร์เตอร์ ควรเป็นยี่ห้อใด หรือ กำหนดสเปกอุปกรณ์ต่างๆให้ชัดเจน เป็นต้น
นอกจากนี้ ในเรื่องของการคิดอัตราค่าบริการสายส่งและจำหน่าย (วิลลิ่งชาร์จ) ที่ปัจจุบันยังหาข้อสรุป อัตราที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายยังไม่ได้นั้น ทางสมาคมฯ อยากเสนอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) พิจารณากำหนดอัตราฯ โดยใช้หลักการเรื่องระยะทางของสายส่ง หรือ ระยะที่ตั้งของสถานีไฟฟ้าย่อย เข้ามากำหนดอัตราที่แตกต่างกัน แทนการใช้หลักการเรื่องการคำนวนวงเงินลงทุนรวมในการก่อสร้างสายส่งทั่วประเทศ เพราะจะเป็นอัตราฯจัดเก็บที่สูงเกินไป
“เราอยากเสนอให้จัดเก็บตามระยะทาง การใช้บริการสายส่ง เช่น หากไม่ข้ามสายส่ง ก็ควรเก็บอยู่ที่ 50 สตางค์ต่อหน่วย และหากข้าม substation ก็อาจจัดเก็บอยู่ที่ 70 สตางค์ต่อหน่วย หรือ ข้าม substation ในระยะทางที่ไกลออกไปหลาย substation ก็อาจจะเป็นอัตรา 1 บาทต่อหน่วย เป็นต้น”
อย่างไรก็ตาม การคิดอัตราค่าบริการสายส่งและจำหน่าย (วิลลิ่งชาร์จ) นั้น เบื้องต้น ยังอยู่ในกรอบ 0.85- 1.15 บาทต่อหน่วย ซึ่งเมื่อรวมกับต้นทุนผลิตไฟฟ้าแต่ละประเภท ก็ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าแพงอยู่ ดังนั้น ตัวเลขที่เอกชนต้องการมองว่า ควรอยู่ที่ 50-70 สตางค์ต่อหน่วย ก็น่าจะเป็นตัวเลขที่เอื้อให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน และทำให้ประเทศบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ได้ รวมถึง รัฐควรกำหนดอัตราค่าบริการสายส่งและจำหน่าย (วิลลิ่งชาร์จ) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างแพร่หลาย ไม่ใช่แค่เป็นอัตราฯที่กำหนดใช้เฉพาะพื้นที่ Sandbox เท่านั้น