เตือนสิงหาคมนี้ประเทศไทยเสี่ยงไฟฟ้าดับวงกว้างในบางพื้นที่ ( Partial Blackout ) ปริมาณสำรองเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าทั้งดีเซลและLNG เหลือต่ำกว่าเกณฑ์ โดยขอความร่วมมือประชาชนช่วยประหยัดการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค)ตั้งแต่เวลา 18.00-21.30 น.
เราเดินมาอยู่ในจุดที่ ผู้ใช้ไฟฟ้าถูกรัฐบังคับให้เลือก ว่าจะยอมให้บ้านไฟดับซึ่งเป็นปัญหาความมั่นคงไฟฟ้าจากการขาดแคลนเชื้อเพลิงหรือจะให้มีไฟฟ้าใช้ตามปกติแต่ยอมจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นที่เกิดจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น
โดยแหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการดูแลความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ อธิบายถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ ว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดไฟฟ้าดับวงกว้างในบางพื้นที่ ( Partial Blackout ) ที่ กฟผ.ต้องเริ่มมอนิเตอร์สถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตั้งแต่สัปดาห์หน้านี้เป็นต้นไป มาจากเรื่องปริมาณสำรองเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งLNGและดีเซล อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าปกติ โดยหากมีปัญหาที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าหลักที่ใช้เชื้อเพลิงอื่นๆเช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว ที่นอกเหนือไปจากแผน จะไม่สามารถที่จะเดินเครื่องโรงไฟฟ้าก๊าซหรือดีเซลทดแทนได้ เพราะเชื้อเพลิงมีจำกัด
โดยในแผนการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้านไฟฟ้าได้มีการประสานสั่งการให้ การไฟฟ้านครหลวง ( กฟน.) และการไฟฟ้าไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)เพื่อดำเนินการเลือกสลับดับไฟในบางพื้นที่ หรือ ( Partial Blackout ) เอาไว้แล้ว
ทั้งนี้ประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าสัดส่วนประมาณ 60 % และเพื่อความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าแต่ละโรงไฟฟ้าจะต้องมีถังสำรองน้ำมันดีเซล เพื่อให้ใช้ผลิตไฟฟ้าให้อยู่ได้อย่างน้อย 3 วัน
อย่างไรก็ตามปัญหาราคา LNG ขยับสูงขึ้นมากถึงประมาณ 58 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู หรือคิดเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าประมาณ 8 บาทต่อหน่วย ทำให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือ (กกพ.)ที่มีบทบาทกำกับดูแลต้นทุนค่าไฟฟ้า เห็นว่า เดือนสิงหาคม นี้ โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซซึ่งสามารถเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซลทดแทนได้ จะต้องเดินเครื่องด้วยดีเซล ที่คิดเป็นต้นทุนผลิตไฟฟ้าประมาณ 4-5 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบค่าไฟฟ้าลงได้
ทำให้มีการผลิตไฟฟ้าด้วยดีเซลตามนโยบายในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นจึงจะต้องมีการบริหารจัดการขนส่งดีเซลเติมใส่ถังเก็บในโรงไฟฟ้าตลอดเวลา เพราะถังเก็บดีเซลมีอยู่จำกัด
โดยโรงไฟฟ้าของ กฟผ.นั้นต้องการดีเซลมาเติมสำรองในถังไว้ประมาณ 10-11ล้านลิตรต่อวัน แต่ด้วยข้อจำกัดในการขนส่งของผู้ค้า สามารถจัดส่งน้ำมันให้โรงไฟฟ้าของGPSC ทางท่อได้ประมาณ 2.5 ล้านลิตรต่อวัน และจากโออาร์ผู้ค้าม.7 รายอื่นๆทางรถบรรทุกได้อีกประมาณ 2 ล้านลิตรต่อวัน ทำให้ โรงไฟฟ้าขาดเชื้อเพลิงดีเซลในการเดินเครื่อง จึงหันไปเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าด้วยLNG เช่นเดิม ในขณะที่ฝั่งคลังเก็บLNG ของ ปตท. ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะนโยบายของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)นั้นให้ ปตท.จัดซื้อLNG ส่วนที่นอกเหนือจากสัญญาระยะยาวคราวละช่วงสั้นๆเป็นรายเดือน ด้วยห่วงว่าการซื้อLNG ในช่วงที่ราคาสูง จะกระทบต่อค่าไฟฟ้า เลยทำให้การนำเข้าLNGมาเติมใส่ในถังเก็บทำได้ไม่ทันกับที่ต้องใช้ไป ที่ผ่านมาจึงต้องไปใช้LNGในส่วนที่สำรองไว้กรณีฉุกเฉินแทน จึงทำให้ตลอดเดือนสิงหาคม คาดว่าสำรองLNGในถังจะต่ำกว่าเกณฑ์ ยกเว้นว่า กกพ.จะอนุมัติให้ ปตท. นำเข้า Spot LNG มาเติมอย่างเร่งด่วน
” ปัญหาความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศในตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องว่าเรามีโรงไฟฟ้าไม่เพียงพอ แต่เป็นเรื่องของการขาดเชื้อเพลิงที่จะมาป้อนโรงไฟฟ้าในกรณีฉุกเฉิน โดยสถานการณ์เดือนสิงหาคมนั้นถือว่าโชคไม่ดี เจอทั้งผลกระทบจากช่วงเปลี่ยนผ่านแหล่งก๊าซเอราวัณ ที่ผลิตก๊าซได้น้อยและต้องนำเข้าLNG ราคาแพงมาทดแทน เจอนโยบายการให้นำเข้าLNGยังเป็นการตัดสินใจระยะสั้นเกินไป จนทำให้สำรองLNGมีปัญหากระทบความมั่นคง แล้วยังมาเจอปัญหาเรื่องแหล่งซอติก้าหยุดจ่ายก๊าซนอกแผนเพื่อซ่อมระบบท่อที่ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์อีก
ทางออกเพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงด้านไฟฟ้าในเดือนสิงหาคมนี้คือ ประชาชนต้องร่วมมือกันลดใช้ไฟฟ้าในช่วงที่เกิดพีคไฟฟ้าอย่างจริงจังตั้งแต่ 18.00-21.30 น. เพื่อลดฝั่งของดีมานด์ลง หรืออีกทางหนึ่ง ที่จะเติมฝั่งซัพพลาย คือ กกพ.ต้องมองเรื่องความมั่นคงไฟฟ้าเป็นสำคัญ รีบอนุมัติให้นำเข้าLNG มาเติมในถังเก็บเพื่อให้มีปริมาณสำรองที่เพียงพออยู่ในเกณฑ์ตลอด แบบว่าLNG แพงแค่ไหนก็ต้องยอมกัดฟันอนุมัติให้ซื้อ มองในฐานะผู้ใช้ไฟฟ้าตอนนี้เหมือนถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องเลือกเอาระหว่าง กลับบ้านไปเสี่ยงไฟดับ หรือ เจอบิลค่าไฟแพง ” แหล่งข่าวกล่าว