เชฟรอนพร้อมรื้อถอนแท่นผลิตที่รัฐไม่นำไปใช้ประโยชน์ต่อภายในปีนี้

992
- Advertisment-

เชฟรอนพร้อมรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมในส่วนที่รัฐระบุว่าจะไม่นำไปใช้ประโยชน์ต่อ หลังหมดสัญญาสัมปทาน ตามแนวทางที่ภาครัฐเห็นชอบ ทั้งการรื้อถอนเพื่อนำขึ้นไปจัดการบนฝั่ง หรือการรื้อถอนเพื่อนำไปทำปะการังเทียมที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในมิติการอนุรักษ์ท้องทะเลไทยและการท่องเที่ยว

โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ให้ความเห็นชอบแผนงานการรื้อถอนโดยละเอียด (Final Decommissioning Plan หรือ FDP) อย่างเป็นทางการจำนวน 32 แท่น รวมถึงท่อส่งก๊าซใต้ทะเลที่เกี่ยวข้องเมื่อเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา

นายอรรจน์ ตุลารักษ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายโครงการร่วมทุน บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

นายอรรจน์ ตุลารักษ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายโครงการร่วมทุน บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ บริษัทฯ อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมแผนงานก่อนการรื้อถอน โดยได้รับความเห็นชอบจากบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานในปัจจุบัน ให้สามารถเข้าพื้นที่ แหล่งเอราวัณ หรือ G1/61 เพื่อดำเนินกิจกรรมสำหรับการเตรียมการรื้อถอนบางส่วนแล้ว ตามข้อตกลงการเข้าพื้นที่ของผู้รับสัมปทานเพื่อดำเนินกิจกรรมการรื้อถอน ( Asset Retirement Access Agreement หรือ ARAA ) ที่ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามร่วมกันเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

- Advertisment -

ทั้งนี้ การเข้าพื้นที่ G1/61 เพื่อดำเนินกิจกรรมการรื้อถอน บริษัทฯ จำเป็นจะต้องได้รับการอนุมัติจาก ปตท.สผ.อีดี เป็นรายกิจกรรม รวมถึงได้รับใบอนุญาตที่จำเป็นสำหรับกิจกรรมรื้อถอนจากภาครัฐ บริษัทฯ จึงจะสามารถดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่รัฐระบุว่าจะไม่นำไปใช้ประโยชน์ต่อจำนวน 32 แท่นได้

โดยในแนวทางเบื้องต้นแท่นหลุมผลิตทั้ง 32 แท่น จะเป็นการรื้อถอนเพื่อนำขึ้นไปจัดการบนฝั่งทั้งหมด โดยจะเริ่มเข้าพื้นที่ในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อเตรียมการก่อนที่จะดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้งจริงในปี 2566

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการรื้อถอนเพื่อนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมไปจัดวางเป็นปะการังเทียม (Rigs-to-Reefs) บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ดำเนินโครงการนำร่องไปแล้วก่อนหน้านี้ จำนวน 7 ขาแท่นนั้น  การศึกษาติดตามผลจะดำเนินการครบ 2 ปีในเดือนกันยายน 2565 นี้ ซึ่งหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐเล็งเห็นว่าเป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ให้กับทะเลไทยและประชาชนในพื้นที่ มากกว่าการนำขึ้นไปจัดการบนฝั่ง ทางบริษัทฯ ก็มีความยินดี และพร้อมที่จะดำเนินการรื้อถอนขาแท่นหลุมผลิตมาทำการจัดวางเป็นปะการังเทียมเพิ่มเติมได้

ด้าน ดร. ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นถึงอีกแนวทางการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมที่รัฐควรจะมีการพิจารณาและทำการศึกษาเอาไว้ คือการรื้อถอนแท่นและวางลงไว้อยู่ในที่เดิม ทั้งนี้แท่นผลิตปิโตรเลียมเดิมนั้นเป็นระบบนิเวศที่มีสิ่งมีชีวิตหลากหลาย และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาหลากชนิดอยู่แล้ว การไม่ไปนำโครงสร้างเหล่านี้ออกจากพื้นที่ เท่ากับเป็นการรบกวนระบบนิเวศทางทะเลเดิมน้อยที่สุด ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นที่นิยมทำกันในหลายประเทศ  แต่ในประเทศไทยยังไม่ได้มีการพูดถึงแนวทางนี้กันมากนัก

************************

Advertisment