กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จับมือเชฟรอน ปตท.สผ. ตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่าน จากระบบสัมปทานสู่ระบบแบ่งปันผลผลิต 23 เม.ย. 65 นี้ ส่งเจ้าหน้าที่ประจำ 10 จุดซื้อขายก๊าซ พร้อมเร่งจัดหาก๊าซแหล่งอื่นในอ่าวไทยเพิ่มทดแทนปริมาณผลิตที่ลดลงจากแหล่งเอราวัณ
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า สัมปทานปิโตรเลียมที่รัฐให้กับทางเชฟรอน คือวันที่ 23 เม.ย. 2515 ซึ่งเมื่อถึงวันที่สิ้นสุดสัญญาในวันที่ 23 เม.ย.2565 ก็ครบ 50 ปีพอดี โดยในการเตรียมการให้เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านการผลิตให้เป็นไปอย่างราบรื่นนั้น ได้มีการจัดตั้งวอร์รูมมาติดตามการดำเนินการประกอบด้วยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เชฟรอนในฐานะผู้รับสัมปทานรายเดิมและ ปตท.สผ. ในฐานะผู้รับสัญญารายใหม่ในระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ พีเอสซี
พร้อมกันนี้ได้มีการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ลงไป ประจำใน 10 จุดที่เป็นจุดซื้อขายปิโตรเลียมจากแหล่งเอราวัณในอ่าวไทย โดยมีการตรวจสอบมาตรวัด และเช็กสต็อกที่เก็บปิโตรเลียมไว้ในเรือ ใกล้แท่นผลิต
ที่ผ่านมากำลังการผลิตก๊าซในแหล่งเอราวัณ ของเชฟรอน และบงกช ของ ปตท.สผ. นั้น มีปริมาณรวม 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่หลังจากวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทานแล้ว ในส่วนของแหล่งเอราวัณ จะไม่สามารถผลิตก๊าซในปริมาณขั้นต่ำที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามที่ตกลงไว้กับรัฐได้ โดยจะเหลือปริมาณการผลิตเพียง ประมาณ 425 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากมีปัญหาการเข้าพื้นที่เพื่อเตรียมการผลิตภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต
ทำให้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาโดยการจัดหาก๊าซจากแหล่งอื่นในอ่าวไทยเพิ่ม เพื่อลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ที่มีราคาสูงอยู่ในขณะนี้
โดยในส่วนของแหล่งบงกชนั้นทาง ปตท.สผ. จะเพิ่มกำลังการผลิตได้ 870ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันต่อเนื่องไปถึงปี 2566 แล้วจึงปรับลดการผลิตลงมาเหลือ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
สำหรับแหล่งก๊าซอื่นๆได้มีการเจรจาให้เพิ่มกำลังการผลิตเต็มกำลังแล้ว ซึ่งจะได้ปริมาณก๊าซเพิ่มขึ้นจากสัญญา 5-10 % หรือเพิ่มขึ้นมาประมาณ 100 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน
รวมทั้งการเจรจาขอเพิ่มการผลิตในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย มาเลเซีย ซึ่งตกลงได้แล้ว 1 แหล่ง อีก 1 แหล่งอยู่ในระหว่างการเจรจา
นายสราวุธ ยังกล่าวถึงการวางแผนรับมือสถานการณ์แซงชั่นในพม่าที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการผลิตก๊าซที่จัดส่งมายังไทยตามสัญญาว่า ปัจจุบันมีการผลิตอยู่ที่ 770 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจัดส่งมายังไทยประมาณ 640 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อส่งป้อนให้กับโรงไฟฟ้าก๊าซทั้ง 12 โรงในภาคตะวันออกได้ โดยยืนยันว่ารัฐจะติดตามสถานการณ์โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศ ความมั่นคงด้านพลังงาน และเรื่องสิทธิมนุษยชน