สุนทรียสนทนากับ 3 ผู้ว่าการการไฟฟ้า ในงานใหญ่ประจำปีของ สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) (IEEE POWER & ENERGY SOCIETY (THAILAND) – IEEE PES) คืองาน IEEE PES Dinner Talk 2021 ในหัวข้อ “ความคาดหวังด้านไฟฟ้าและพลังงานหลังยุคโควิด (Post-COVID Expectations: A Power and Energy Dialogue with New Governors of Electric Utilities )” มีประเด็นสำคัญคือการที่ 3 ผู้ว่าการการไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ประสานเสียงบนเวที ยืนยันที่จะร่วมมือกันในด้านต่างๆ ระหว่างหน่วยงานให้มากขึ้น หวังลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ที่จะเกิดประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศ ในบทบาทที่ต่างก็เป็นรัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้า ที่พร้อมจับมือเป็นพันธมิตรกับภาคเอกชน พร้อมเร่งปรับตัว มุ่งเป้าหมาย Green & Smart Energy และถอดบทเรียนโควิด-19 ก้าวสู่ Digital
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการฯ กฟผ. นำเสนอประเด็นดังกล่าวในช่วงหนึ่งของการสนทนาว่า หน่วยงานทั้ง 3 การไฟฟ้าต่างมุ่งไปในเรื่องของพลังงานสะอาด การนำระบบที่เป็นสมาร์ทดิจิทัลมาใช้ในการทำงาน ซึ่งทำให้มีแผนการลงทุนสร้างระบบโครงข่ายที่ซ้ำซ้อนกันอยู่ ดังนั้นหากได้มีการร่วมมือกันมากขึ้นในเรื่องต่างๆ เพื่อลดความซ้ำซ้อนได้ ในภาพรวมประเทศก็จะได้ประโยชน์
ยกตัวอย่างในเรื่องของการลงทุนทำสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบชาร์จเร็ว ที่ทั้ง 3 การไฟฟ้าต่างก็ลงทุนขยายสถานีของตัวเอง ซึ่งในช่วงเริ่มต้น ขณะที่จำนวนผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังมีไม่มาก แต่ในบทบาทของการไฟฟ้าซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องตอบสนองนโยบายของรัฐในเรื่องนี้ หากได้มีการวางแผนร่วมกันในเรื่องของการลงทุนสถานีชาร์จเร็วในจุดต่างๆ ที่จะรองรับการเดินทางของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ให้เดินทางได้ในระยะทางไกลขึ้น เช่น ตั้งแต่สงขลายาวขึ้นมาถึงเชียงใหม่ โดยมีจุดให้แวะชาร์จไฟฟ้าที่ใช้เวลาไม่นานอยู่ตามแนวเส้นทาง ผลที่เกิดขึ้นก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และเป็นการเพิ่มความต้องการใช้ (demand) ไฟฟ้าให้มากขึ้น
“กฟผ.พร้อมที่จะพูดคุยและร่วมมือกันให้มากขึ้นในการทำงานในอนาคตที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศกับทั้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง และยินดีหากทางสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) จะช่วยประสานในเรื่องนี้”
ปัจจุบัน สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) มีนายสมพงษ์ ปรีเปรม อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นนายกสมาคม
ด้าน ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) นายศุภชัย เอกอุ่น กล่าวบนเวทีตอบรับความร่วมมือที่จะมีร่วมกันมากขึ้นกับทั้ง กฟผ. และ กฟน. หากเป็นความร่วมมือที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า
นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวเพิ่มเติมว่าความร่วมมือกันที่มากขึ้นของทั้ง 3 การไฟฟ้าถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพในระบบไฟฟ้าของประเทศในอนาคต โดยมีความคาดหวังอยากจะเห็นความเชื่อมโยงทั้งฝั่งนโยบาย การกำกับดูแล และโอเปอเรเตอร์ ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีมาตรฐานการทำงานบางอย่างที่คนไทยมีความรู้และสามารถกำหนดเป็นมาตรฐานขึ้นภายใต้บริบทของตัวเอง บนแอปพลิเคชั่น เครื่องมือ หรือ อุปกรณ์ที่เราพัฒนาขึ้นได้เอง ก็จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมาก
นอกจากนั้น ยังคาดหวังให้มี Energy Information Center หรือ ศูนย์ข้อมูลพลังงานชาติ ซึ่งมีข้อมูลด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับทั้งผู้ลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้า เช่น ข้อมูลที่บอกว่ามีระบบสายส่งในประเทศที่สามารถรองรับพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้อีกจำนวนเท่าไหร่ อยู่จุดไหนบ้าง เป็นต้น
เร่งปรับตัว มุ่ง Green & Smart Energy
ในประเด็นที่เกี่ยวกับการปรับตัวของแต่ละหน่วยงานการไฟฟ้าต่อทิศทางพลังงานในอนาคต นั้น ผู้ว่าการการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งต่างแสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ในทิศทางที่สอดคล้องกัน โดย นายบุญญนิตย์ ผู้ว่าการฯ กฟผ. กล่าวว่า ธุรกิจหลักของ กฟผ. นั้นมีความเชี่ยวชาญเรื่องโรงไฟฟ้าแบบ conventional ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งในอนาคตจะต้องลดบทบาทลง ดังนั้น กฟผ. จึงได้มีการเตรียมแผนไว้แล้วว่าอีก 29 ปีข้างหน้า หรือในปี ค.ศ. 2050 กฟผ. จะต้องเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ carbon neutrality ซึ่งเป็นการประกาศที่ค่อนข้างจะท้าทาย
“แต่เราต้องซื้ออนาคต ที่ต้องปรับตัวเองเพราะไม่สามารถที่จะทำธุรกิจอยู่แบบเดิมได้ ต้องยอมรับว่า การที่เราเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่จะมาลงทุนด้านพลังงานทดแทนก็จะต้องแบกรับต้นทุนที่สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีทางด้านนี้ แต่ในฐานะที่ กฟผ. เราดูแลด้านพลังงานก็ต้องยอมรับ” นายบุญญนิตย์ กล่าว
“กฟผ. ตั้งเป้าในอนาคตว่าจะเป็น Green Energy ดังนั้น โรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะที่ช่วยให้เราได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูกมา 30-40 ปี จะลดกำลังการผลิตและจะเลิกผลิตไปในที่สุด โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ ก็จะต้องลดบทบาทลง และเราจะมีการลงทุนพลังงานทดแทนมากขึ้น เช่น โซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำในเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ขนาด 45 เมกะวัตต์ ที่เป็นโปรเจกต์แรกที่ทำได้สำเร็จ”
นายบุญญนิตย์บอกว่า เขื่อนต่างๆ ของ กฟผ. มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำอยู่ แต่มีข้อจำกัดที่ต้องผันน้ำจึงจะได้ไฟฟ้า ถ้าเกิดปริมาณน้ำมีน้อย เขื่อนจะไม่มีการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ แต่ในเขื่อนทุกแห่งจะมีระบบส่งไฟฟ้า ดังนั้น พอเราลงทุนสร้างโซลาร์เซลล์ลอยน้ำซึ่งใช้พื้นที่ประมาณ 1% ของพื้นที่ผิวน้ำทั้งหมด มาใช้กับระบบส่งที่มีอยู่แล้ว จึงได้ต้นทุนไฟฟ้าที่ถูกประมาณ 1.50 บาทต่อหน่วย
ปัจจุบัน แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ พีดีพี 2018 กำหนดปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากระบบโซลาร์ลอยน้ำไว้ที่ประมาณ 2,750 เมกะวัตต์ แต่ศักยภาพที่มีอยู่ สามารถทำได้เป็นหมื่นเมกะวัตต์ ดังนั้น กฟผ. จะสามารถ Go Green ด้วยระบบโซลาร์เซลล์ลอยน้ำที่สามารถใช้กับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro Power) ควบระบบแบตเตอรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และระบบนี้จะเป็นอนาคตของประเทศ
ในส่วนของ ไฮโดรเจน ที่มองว่าเป็นพลังงานในอนาคต แม้ในเชิงพาณิชย์ขณะนี้อาจยังไม่เหมาะสม แต่ กฟผ. ยังติดตามดูเทคโนโลยีนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งดูแนวโน้มของพลังงานทดแทน เชื่อว่าพลังงานไฮโดรเจนเป็นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ รวมทั้งแบตเตอรี่ หรือ ตัวคาร์บอนแคปเจอร์ ก็เช่นกัน
สำหรับเรื่องระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Energy Storage ที่มีหลายรูปแบบทั้ง แบตเตอรี่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ หรือ ไฮโดรเจน นั้น นายบุญญนิตย์มีความเห็นว่า ถ้าในอนาคตแบตเตอรี่มีราคาถูกมาก ตอนกลางวันเราก็สามารถเอาพลังงานจากแสงอาทิตย์มาเก็บไว้ในแบตเตอรี่เพื่อใช้ในตอนกลางคืนได้ อนาคตเราแทบไม่ต้องไปนำเข้าพลังงานจากที่ไหนเลย
นายบุญญนิตย์ กล่าวบนเวที โดยสรุปได้ว่า หากในอนาคตถ้าเราสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม หรือ ไฮโดรเจน ได้มากขึ้น เราก็จะเป็นไท เป็นอิสระ จากการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากแหล่งพลังงานในต่างประเทศ โดยปัจจุบันราคานำเข้าพลังงาน เช่น ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า มีราคาแพงขึ้นและกระทบต้นทุนการผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม คงจะต้องรอเวลาให้ราคาแบตเตอรี่ลดลงมา แบตเตอรี่จึงเป็น game changer ของเรื่องพลังงานทดแทน
“นโยบายของ กฟผ. คือเราตามเทคโนโลยี เราศึกษา เราทดลองใช้ และร่วมมือกับหลายบริษัทในการคิดจะตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ รวมถึงศึกษาระบบการกำจัดแบตเตอรี่ไปด้วย เช่น เราศึกษาเรื่องแบตเตอรี่ในรถยนต์ว่าเมื่อใช้ไปแล้วประสิทธิภาพลดลงเหลือ 70-80% ทำอย่างไรจะเอามาประกอบและใช้ร่วมกับระบบส่งไฟฟ้าได้ เป็นต้น”
ด้าน นายวิลาศ ผู้ว่า กฟน. กล่าวเสริมในทิศทางเดียวกันว่า ในส่วนของระบบจำหน่ายไฟฟ้านั้นแบตเตอรี่จะเป็น game changer จริงๆ ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธเรื่องเทคโนโลยี รอเพียงราคาที่จะลดลงมา ถ้าวันนั้นมาถึงก็จะเกิด Micro Power Plant ตามบ้านที่อยู่อาศัย ถึงตอนนั้น อาจจะไม่ต้องมีการไฟฟ้าแล้วก็ได้
ส่วนผู้ว่าการ PEA นายศุภชัย กล่าวว่า ทิศทางพลังงานในอนาคตที่จะเป็นเรื่องของพลังงานทดแทนและเรื่องของสมาร์ทดิจิทัล ทั้งสมาร์ทกริด สมาร์ทมิเตอร์ ทำให้ PEA ต้องลงทุนพัฒนาโครงข่ายอย่างต่อเนื่องเพื่อมารองรับ นอกจากนี้ ยังมองในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ของระบบมิเตอร์ โดยมีการออกมิเตอร์รุ่นที่สองที่ได้มาตรฐานให้ไปติดตั้งให้กับบ้านที่มีรถยนต์ไฟฟ้า ที่จะมีความปลอดภัยมากขึ้นในการชาร์จจ่ายไฟฟ้าที่บ้านของตัวเอง
ถอดบทเรียนโควิด-19 ก้าวสู่ Digital
ส่วนประเด็นผลกระทบและการถอดบทเรียนจากโควิดของแต่ละองค์กรนั้น ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิดทำให้ กฟผ.รู้ว่าองค์กรมีไขมันเยอะ และจะทำให้ lean ขึ้นได้อย่างไร โดยการนำระบบดิจิทัลมาช่วยในการทำงาน ทำให้ขณะนี้ สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ หรือ work from anywhere โดยโควิด-19 ระบาด มา 2 ปี ยังไม่มีปัญหาเรื่องระบบการผลิตไฟฟ้า และไม่มีไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับแต่อย่างใด
ทั้งนี้ คิดว่าการทำงานหลังยุคโควิดน่าจะมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น แต่จะให้เป็นการทำงานแบบไฮบริดคือ 60% ของจำนวนวันมาทำงานตามปกติ อีก 40% ทำงานอยู่ที่ไหนก็ได้ โดยเรื่องการปฏิสัมพันธ์ ยังมีความจำเป็น เพราะ กฟผ. เป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีคนหลายรุ่น มีวัฒนธรรมและค่านิยมองค์กรที่ต้องปลูกฝัง จึงต้องมีเวลามาพบปะเจอกันเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ร่วมกันจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะพนักงานรุ่นใหม่ๆ แม้ว่าจะสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ด้วยระบบออนไลน์ก็ตาม
ด้าน นายศุภชัย ผู้ว่าการ PEA กล่าวว่า โควิด-19 มีผลกระทบโดยตรงต่อผลการดำเนินงานของการไฟฟ้าโดยเฉพาะปี 2563 ที่ถือเป็น worst case ที่หน่วยจำหน่ายไฟฟ้าลดลงจากปี 62 จำนวน 3,311 ล้านหน่วย หรือลดลงถึง 2.40% โดยเฉพาะผู้ใช้ไฟรายใหญ่กระทบมากสุด ลดลง 6.75% ส่วนผู้ใช้รายย่อยขยายตัว 4.33% เพราะมีการทำงานที่บ้าน ส่วนปี 2564 การใช้ไฟฟ้าดีขึ้น ทำให้มั่นใจว่าทิศทางเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น ถ้าไม่เกิดการระบาดโควิดระลอกใหม่อีก ทั้งนี้ ที่ผ่านมา PEA สามารถบริหารจัดการช่วยทุกกลุ่มให้เติบโตและเดินไปด้วยกันได้
ส่วน นายวิลาศ ผู้ว่าการ กฟน. กล่าวว่า กฟน. จัดการโควิดด้วยการมีคณะกรรมการเรื่องแผนฉุกเฉิน โดยกำหนดภารกิจของ กฟน. ที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องภายใต้ระบบความปลอดภัยด้านสาธารณสุข มีการตั้งทีมงาน 7 ทีม มาดูแลการบริหารจัดการภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ระบบไฟฟ้าต้องมีความมั่นคงในการจ่ายไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลทุกแห่ง รวมถึงโรงงานผลิตวัคซีน และมีโรงพยาบาลของการไฟฟ้านครหลวงเป็นที่ปรึกษาว่าควรจะทำเรื่องไหนอย่างไร เช่น พนักงานของเราที่ออกไปทำงานแล้วติดโควิดจะดูแลอย่างไร
“โควิด ทำให้ กฟน. ได้รับผลกระทบด้านต่างๆ มากมาย แต่ก็ทำให้เราได้พัฒนาตัวเอง โควิดมาทดสอบระบบการทำงานของ กฟน.ว่ายังแข็งแรง มีความพร้อมที่จะรับสถานการณ์ได้อยู่หรือไม่ ซึ่งได้เห็นว่ากุญแจความสำเร็จของเราคือ การกำหนดนโยบาย ทิศทางและสื่อสารได้ชัดเจน พนักงานมีความเข้าใจและปฏิบัติตามได้ในทิศทางเดียวกัน ต้องบอกว่า เวทีนี้ไม่มีพี่เลี้ยง แต่เราก็ปรับระบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่น จนผ่านพ้นสถานการณ์ช่วงที่วิกฤติของการแพร่ระบาดมาได้” ผู้ว่า กฟน. กล่าว
ส่วนความท้าทายในการปรับตัวองค์กรนั้น กฟน. มองผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ประกอบการธุรกิจเป็นหลัก เพื่อช่วยประคับประคองให้ธุรกิจอยู่ได้ เช่น เรื่องการผ่อนชำระค่าไฟและการปรับโหมดการบริการเป็นดิจิทัล
“ปีหน้า (2565) กฟน. จะปรับเป็น fully digital services ทั้งหมด เป็นสังคมไร้การสัมผัส go smart นำ smart มาตอบโจทย์ความสะดวก การเข้าถึงง่าย มีความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหา ลูกค้าสามารถจัดการแก้ปัญหาไฟฟ้าได้ด้วยตัวเองผ่านระบบแอพพลิเคชั่นของเราที่ดาวน์โหลดเอาไปใช้”
สำหรับงาน IEEE PES Dinner Talk 2021 จัดขึ้นเมื่อคืนวันพุธที่ 22 ธันวาคม 2564 ณ ห้องวิภาวดี บอลรูม โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ ได้รับความสนใจจากบุคคลสำคัญในวงการพลังงานไฟฟ้าเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
โดยในช่วงปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ทิศทางและนโยบายพลังงานไทย” โดย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นั้น ได้นำเสนอถึงทิศทางพลังงานไทยที่จะมุ่งสู่พลังงานสะอาด การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่จะมีการประกาศแพคเกจออกมาเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ. 2565 เพื่อเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 โดยคาดหวังบทบาทจากภาคเอกชนและ IEEE PES ในการเสนอแนะข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนนโยบายให้ประสบความสำเร็จ
–
–