คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียวกองทุนน้ำมันฯกู้เงิน 2 หมื่นล้าน เสริมสภาพคล่องกองทุนฯ ที่เหลือเงินแค่ 4,515 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงพลังงานคาดดูแลราคาน้ำมันและ LPG ได้ถึงแค่สิ้นเดือน ธ.ค.2564 นี้ ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกเคลื่อนขบวน Truck Power ถึงกระทรวงพลังงาน เรียกร้องลดดีเซลเหลือ 25 บาทต่อลิตร ด้านกระทรวงพลังงานเดินหน้าทุกทางพยุงดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ทั้งเริ่มเจรจากระทรวงการคลังลดภาษีน้ำมัน หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลดสัดส่วน B100 ในน้ำมันดีเซล B7 เหตุ B100 แพงทะลุ 47 บาทต่อลิตร เป็นต้นทุนดีเซล 3-4 บาทต่อลิตร ส่วนสภาพัฒน์ฯ ระบุอาจช่วยกองทุนฯ 2,000 ล้านบาทดูแลราคา LPG 3-4 เดือน แต่ให้เฉพาะกลุ่มภาคครัวเรือนเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 16 พ.ย. 2564 ได้อนุมัติให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กู้เงิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้พยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ไปตลอดช่วง 4 เดือนข้างหน้า เนื่องจากปัจจุบันสถานะกองทุนฯ ณ วันที่ 14 พ.ย. 2564 เหลือเงินสุทธิเพียง 4,515 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินบัญชีน้ำมัน 24,478 ล้านบาท และเงินบัญชี LPG ติดลบ 19,963 ล้านบาท
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงงาน กล่าวว่าหลังจากนี้กระทรวงพลังงานจะเริ่มเจรจาและส่งเอกสารการกู้เงินกับสถาบันการเงิน ซึ่งคาดว่าจะได้รับเงินเข้ากองทุนฯประมาณเดือน เม.ย.-พ.ค. 2565 โดยระหว่างนี้กระทรวงพลังงานยังมีเงินเหลืออยู่ 4,515 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะดูแลราคาดีเซลและราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) ได้ถึงสิ้นเดือน ธ.ค. 2564 นี้
แต่หากราคาน้ำมันยังพุ่งขึ้นสูง ทางสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) อาจต้องดึงเงินที่อยู่ในกรมบัญชีกลาง 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ยังไม่ถึงกำหนดการชำระหนี้ แต่เตรียมไว้สำหรับชำระหนี้โรงกลั่นน้ำมันหรือเจ้าหนี้รายอื่นๆ เพื่อนำมาหมุนเวียนก่อนจนกว่าเงินกู้จะเข้ามาในกองทุนฯ
นอกจากนี้กระทรวงพลังงานยังเริ่มเจรจากับกรมสรรพสามิตเพื่อเตรียมพร้อมแนวทางปรับลดภาษีน้ำมันลงบางส่วน จากปัจจุบันจัดเก็บอยู่ 5 บาทต่อลิตรโดยหากราคาน้ำมันโลกยังปรับตัวสูงขึ้นและส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลแพงเกิน 30 บาทต่อลิตร อาจต้องเริ่มพิจารณาการลดภาษีน้ำมันลงบางส่วน ทั้งนี้ต้องรอให้ระดับปลัดและรัฐมนตรีของทั้งสองกระทรวงหารือกันอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามในวันที่ 16 พ.ย. 2564 ราคาน้ำมันโลกยังปรับลดลงอีก ซึ่งกระทรวงพลังงานจะเร่งหารือกับผู้ประกอบการน้ำมันว่าจะสามารถปรับลดราคาลงได้ต่ออีกหรือไม่ แม้จะทราบดีว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการน้ำมันช่วยตรึงค่าการตลาดไว้นานพอสมควรแล้วก็ตาม ทั้งนี้ยืนยันว่ากระทรวงพลังงานติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดทุกวันและเตรียมพร้อมทุกแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันดีเซลทะลุเกิน 30 บาทต่อลิตร
พร้อมกันนี้กระทรวงพลังงานก็ได้หารือกับกรมธุรกิจพลังงานและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแนวทางปรับลดสัดส่วนการผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์(B100) ในน้ำมันดีเซล B7 ลง เนื่องจากขณะนี้ราคา B100 แพงมากอยู่ที่ระดับ 47.11 บาทต่อลิตร ซึ่งเท่ากับเป็นต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลประมาณ 3-4 บาทต่อลิตร ดังนั้นหากปรับลดสัดส่วนการผสมลงได้จะช่วยบรรเทาผลกระทบราคาดีเซลลงได้เช่นกัน และให้ผู้ประกอบการหันไปส่งออก B100 แทน เนื่องจากราคาตลาดโลกกำลังสูง ผู้ค้าจะได้กำไรมากกว่าส่งขายในประเทศ อย่างไรก็ตามขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาผลดีและผลเสียที่จะเกิดกับเกษตรกรด้วย จึงยังไม่ได้ข้อสรุปในตอนนี้
ส่วนความคืบหน้ากรณีกระทรวงพลังงานทำหนังสือถึงสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) เพื่อใช้เงินจาก พ.ร.บ.เงินกู้ มาชดเชยราคา LPG แทนการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันในบัญชี LPG นั้น กระทรวงพลังงานได้ทำเรื่องขอใช้เงินประมาณ 3-4 เดือนเท่านั้น ในวงเงิน 2,000 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดสภาพัฒน์ฯ ให้ความเห็นว่าจะช่วยได้เพียงกลุ่มครัวเรือนที่ใช้ LPG เท่านั้น แต่ไม่ได้ช่วยเหลือกลุ่มยานยนต์และกลุ่มอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นการช่วยซึ่งเกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด-19
สำหรับปัจจุบันราคา LPG โลกยังทรงตัวระดับสูงประมาณ 800 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน หรือคิดเป็นเงินชดเชยประมาณ 17-18 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เพื่อให้ราคาจำหน่าย LPG อยู่ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ตรึงราคาจำหน่ายมาตั้งแต่ มี.ค. 2563 ดังนั้นปลายปี 2564 นี้กระทรวงพลังงานจะต้องทบทวนมาตรการช่วยเหลือใหม่ว่าจะตรึงราคาต่อไป หรือทยอยปรับราคาขึ้นบางส่วน เพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันฯ และสอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย
ส่วนกรณีกลุ่มรถบรรทุกเรียกร้องให้ปรับลดราคาน้ำมันดีเซลลงเหลือ 25 บาทต่อลิตรนั้น ทางกระทรวงพลังงานอยากให้กลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกไปทบทวนอัตราดังกล่าวใหม่ เนื่องจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยลดราคาดีเซลในช่วงวิกฤติพลังงานถึง 25 บาทต่อลิตร แม้ในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบโลกขึ้นไปถึง 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ไทยก็ยังใช้มาตรการดูแลราคาดีเซลไม่ให้ราคาดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตรมาโดยตลอด ขณะที่ปัจจุบัน(15 พ.ย. 2564)ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 81.01 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และได้เริ่มปรับลดลงตลอด 2 วันที่ผ่านมาแล้ว
ทั้งนี้เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 พ.ย. 2564 สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้เริ่มเคลื่อนขบวนรถบรรทุก 4 สายหลัก ถนนเอเชีย,ถนนสุขุมวิท,ถนนบางนา-ตราดและถนนสายตะวันตก เพื่อทำกิจกรรมคาร์ม็อบ Truck Power โดยเคลื่อนขบวนรถบรรทุกเข้ามาชุมนุมฯ บริเวณกระทรวงพลังงาน ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และให้รัฐใส่ใจความเดือดร้อนจากปัญหาราคาน้ำมันแพง โดยเรียกร้องให้ลดราคาดีเซลเหลือ 25 บาทต่อลิตร