- Advertisment-

การเข้ามาจับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือเป็นก้าวแรกของการเดินเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีก (Retail Business) จากเดิมที่เป็นผู้ค้าส่งไฟฟ้ามาโดยตลอดกว่า 50 ปี  และนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญขององค์กร เพื่อให้บรรลุทั้งเป้าหมายทางธุรกิจและสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Ecosystem ในประเทศ เพื่อช่วยภาครัฐขับเคลื่อนนโยบายการใช้รถ EV ให้ได้ 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ส่งผลให้ กฟผ. ต้องตั้งทีมงานพิเศษขึ้นมา และบริหารงานด้วยระบบ “คิดแบบรัฐ ทำแบบเอกชน” โดยทีมงานพิเศษอยู่ภายใต้โครงสร้างการบริหารองค์กรแบบใหม่ ที่ชื่อว่า PMO ซึ่งขึ้นตรงต่อ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อช่วยให้การทำงานคล่องตัว รวดเร็ว และสอดรับกับทีมงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิตอล

พิชิต พงษ์ประเสริฐ วิศวกรระดับ9 หัวหน้ากลุ่มพัฒนาธุรกิจใหม่-ยานยนต์ไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ทีมงานรุ่นใหม่ภายใต้การนำของ “พิชิต พงษ์ประเสริฐ” วิศวกรระดับ9 หัวหน้ากลุ่มพัฒนาธุรกิจใหม่-ยานยนต์ไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยอมรับว่า มีความท้าทายหลายด้านรอพวกเขาอยู่ในธุรกิจ EV แต่พวกเขาพร้อมจะเดินหน้า เพื่อไปสู่เป้าหมายอันดับแรกคือ กำไรที่ไม่ใช่ตัวเงิน แต่เป็นกำไรจากการรักษาฐานการผลิตรถยนต์อันดับ 1 ในอาเซียนไว้ให้ได้ในยุคการปฏิรูปเทคโนโลยี ( Digital Disruption) ด้วยการปรับตัวเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในอาเซียน เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศเติบโตต่อไปได้ และเมื่อการใช้รถ EV แพร่หลายในประเทศ เกิดการแข่งขันมากขึ้น และราคารถ EV ถูกลงเท่ากับรถที่ใช้น้ำมัน เมื่อนั้นเป้าหมายต่อไป คือ กำไรที่เป็นตัวเงินจากการทำธุรกิจ EV ของ กฟผ. จึงจะเริ่มเกิดขึ้น  

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม การจะรักษาฐานการผลิตรถยนต์อันดับ 1 ของอาเซียนเอาไว้ในประเทศให้ได้นั้น ภาครัฐจำเป็นต้องสนับสนุนให้เกิดการลงทุนธุรกิจ EV ในประเทศ  โดยต้องเริ่มจากการส่งเสริมการใช้รถ EV ภายในประเทศก่อน เนื่องจากนักลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนใหญ่ที่เข้ามาเมืองไทย มักจะเล็งการขายรถในประเทศไทยประมาณ 50% และส่งออกไปต่างประเทศอีก 50% ดังนั้น หากคนในประเทศไทยหันมาใช้รถ EV จะส่งผลให้นักลงทุนทุกห่วงโซ่การผลิตหันกลับมาลงทุนในไทยต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันการใช้รถ EV ยังส่งผลดีต่อสภาพอากาศ ช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่เกิดขึ้นทุกปีในช่วงฤดูหนาวได้ และยังช่วยลดปัญหาภาวะเรือนกระจกของโลกได้อีกด้วย ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการรักษาสภาพอากาศของโลกไม่ให้ร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ดังนั้นทิศทางของโลกจะหันมาใช้รถ EV กันมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตแน่นอน  

“ปัจจุบันหน้าที่ของ กฟผ. มี 2 มิติ คือ มิติแรก กฟผ. เป็นผู้ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ที่ต้องผลิต จัดหา จัดส่งไฟฟ้า ดังนั้น กฟผ. ต้องมาศึกษาว่าการใช้รถ EV จะส่งผลให้เกิดการใช้ไฟฟ้าเพิ่มเท่าไหร่ รูปแบบใด โดยลงลึกถึงพฤติกรรมการชาร์จไฟฟ้าว่าจะเกิดพร้อมกันช่วงเวลาไหน เพื่อเตรียมพร้อมโรงไฟฟ้า และระบบส่งจำหน่ายมารองรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ กฟผ. ได้เริ่มศึกษาร่วมกับภาคนโยบาย และเตรียมแบบจำลองต่างๆ และแนวทางดำเนินงาน ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ” พิชิต กล่าวถึงการเตรียมพร้อมของ กฟผ. ต่อการก้าวสู่ธุรกิจ EV

“ส่วนมิติที่ 2  คือ การสนับสนุน EV Ecosystem (ระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า)  โดย กฟผ. ได้เดินหน้าขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อทำให้ผู้ใช้รถ EV เกิดความสบายใจในการใช้งานรถ EV และรองรับการใช้งานรถ EV หลากหลายแบบในอนาคตด้วย”

ปัจจุบัน กฟผ. มีสถานีชาร์จ EV อยู่ 14 สถานี คาดสิ้นปี 2564 ถึงต้นปี 2565  จะมีประมาณ 40-50 สถานี และปี 2565 จะมีการขยายอย่างต่อเนื่องโดยพิจารณาจากความต้องการใช้ และปริมาณรถยนต์ EV เป็นหลัก โดยเป้าหมายจะขยายให้มากเพียงพอรองรับการสร้าง Ecosystem ที่ทำให้คนเปลี่ยนมาใช้รถ EV ให้มากที่สุด

นอกจากนี้ กฟผ. ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม (Network Operator Platform) หรือ ระบบบริหารจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้าขึ้นมา โดยปกติตู้ชาร์จไฟฟ้าจะไม่สามารถทำงานเองได้ จึงต้องมีระบบออนไลน์ในการควบคุม โดยแพลตฟอร์มนี้จะเชื่อมโยงกับการบริหารจัดการพลังงาน ทั้งการสั่งชาร์จไฟฟ้า หยุดชาร์จไฟฟ้า และการจ่ายเงิน เป็นต้น ซึ่งตู้ชาร์จทุกตู้ที่ให้บริการสาธารณะต้องมีระบบดังกล่าวรองรับ ทั้งนี้ ในอดีตประเทศไทยจะใช้แพลตฟอร์มของต่างประเทศ และข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการชาร์จไฟฟ้าจะส่งไปยังต่างประเทศหมด ทำให้บางแพลตฟอร์มรู้จักประเทศไทยดีมากกว่าคนไทย ด้วยซ้ำ ดังนั้น กฟผ. มองว่า การมีแพลตฟอร์มเป็นของประเทศไทย แทนที่จะต้องไปซื้อแพลตฟอร์มต่างประเทศจะส่งผลดีกับไทยมากกว่า  กฟผ. จึงพัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมาเองเพื่อให้คนไทยได้ใช้งาน

นอกจากนั้น แพลตฟอร์มนี้ยังเป็นประโยชน์สำหรับเจ้าของสถานีชาร์จไฟฟ้า เพราะแพลตฟอร์มจะแสดงข้อมูลให้ทราบว่า ตู้ชาร์จอยู่ที่ไหน มีคนใช้หรือไม่ ใช้แบบใด กำลังไฟฟ้าเท่าไหร่ เป็นเงินกี่บาท ตู้ชาร์จมีปัญหาตรงระบบใด และยังเชื่อมโยงการชำระเงินกับระบบแอพพลิเคชั่นต่างๆได้  เรียกว่าแพลตฟอร์มนี้จะเป็นตัวเชื่อมโยงทั้งหมด  ตอนนี้เริ่มเปิดให้ผู้สนใจใช้บริการบ้างแล้ว เช่น สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ และผู้ที่ต้องการให้สถานีชาร์จของตัวเองเปิดเป็นเชิงพาณิชย์ก็สามารถมาใช้แพลตฟอร์มของ กฟผ.ได้

Cr: EGAT

“วันนี้ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ไม่ทำให้คนเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า  ห่วงโซ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมดก็จะได้รับผลกระทบ ไม่สามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว ดังนั้นตอนนี้ทั้ง 3 การไฟฟ้า และ ปตท. รวมถึงหน่วยงานภาคนโยบายทั้งหมด ได้เข้ามาสนับสนุนให้เกิดการใช้รถ EV ในทุกมิติ ทั้งเรื่องรถยนต์ สถานีอัดประจุไฟฟ้าระบบต่างๆ รวมถึงหลักเกณฑ์ และกฎระเบียบ โดยตั้งเป้าหมายว่า ทำยังไงก็ได้ให้คนเปลี่ยนมาใช้ มาลงทุนในประเทศ ผมเห็นความตั้งใจและเป้าหมายที่เราจะเป็นศูนย์กลางผลิตรถ EV ในอาเซียน ตอนนี้กำลังเดินอย่างแข็งขัน ในฐานะที่ กฟผ. ก็เป็นหนึ่งในคนขับเคลื่อนให้เกิดการใช้รถ EV เช่นกัน” พิชิตกล่าว

พิชิต บอกว่า ปัจจุบันคนไทยใช้รถ EV อยู่ประมาณ 4,000 คัน ซึ่งอาจมองดูว่าน้อย แต่ถ้าดูอัตราเติบโตจากปี 2563 จนถึง ต.ค. 2564 จะพบว่า เติบโตถึง 100%  และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือ จะมีผู้เล่นในตลาดรถ EV มากขึ้นเรื่อยๆ โดยขณะนี้ค่ายรถยนต์ต่างๆ เริ่มมีความชัดเจนในการผลิตรถ EV มากขึ้น เช่น ค่ายยุโรปประกาศว่าอีก 10 ปีจะไม่ผลิตรถที่ใช้น้ำมันแล้ว และจะผลิตรถ  EV เท่านั้น ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีผู้ผลิตรถยนต์หลากหลายแบรนด์เข้ามาเปิดตัวยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เมื่อตลาดเริ่มเติบโต มีการแข่งขัน ราคารถ EV ลดลง ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ก็จะยิ่งขับเคลื่อนส่งเสริมให้ EV เติบโตอย่างรวดเร็ว

“งานวิจัยบลูมเบิร์กวิเคราะห์ว่าอีก 3-4 ปีข้างหน้า ราคารถ EV จะเท่ากับรถที่ใช้น้ำมัน และจะเป็นจุด kick off ให้ประชาชนตัดสินใจซื้อ EV มากขึ้น และในอนาคตอาจจะได้เห็นการใช้รถ EV  ในไทย 100%”   


พิชิต ในฐานะที่เป็นผู้นำทีมเดินหน้าธุรกิจ EV กฟผ. ในครั้งนี้  ยอมรับว่า นับเป็นความท้าทายมากที่ กฟผ. ขยับมาสู่ธุรกิจที่เราไม่เคยทำมาก่อน เป็นธุรกิจค้าปลีก ( Retail Business) ครั้งแรกที่ กฟผ. เข้ามาดำเนินการ  ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ กฟผ. ทำคือ ให้การดำเนินธุรกิจ EV อยู่ภายใต้โปรเจกต์พิเศษ โดยตั้งทีมพิเศษขึ้นมาอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ว่าการ กฟผ. โดยตรง และทำงานขับเคลื่อนเหมือนเป็นบริษัทหนึ่ง ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมสำคัญให้การดำเนินธุรกิจมีความคล่องตัว ถ้ามีปัญหาจะสามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนการทำงานในฐานะหัวหน้าทีมบริหารธุรกิจ EV นี้ สิ่งสำคัญคือ ต้องทำความเข้าใจกับลูกทีมว่า สิ่งที่เรากำลังทำไม่ใช่สิ่งที่ กฟผ. เคยทำมาก่อน ดังนั้นต้องมีวิธีคิดในการทำธุรกิจ 2 อย่างคือ ตั้งเป้าหมายใหญ่ในฐานะที่ กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจ คือ ต้องส่งผลต่อสังคมให้เกิดการปรับเปลี่ยนมาใช้รถ EV เรียกว่า เป็นการวางเป้าหมายโดยคิดแบบรัฐ แต่วิธีการทำต้องคิดแบบเอกชน ว่าควรทำไหม ผลตอบแทนเป็นอย่างไร ทำอย่างไรให้สามารถมีส่วนแบ่งในตลาด ต้องทำการตลาดด้านดิจิตอลอย่างไรเพื่อให้คนหันมาใช้ เป็นต้น

“เป็นความท้าทายที่ทีมงานต้องช่วยกันกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ เพราะทุกอย่างถือเป็นเรื่องใหม่หมด ทำไปเรียนรู้ไป แม้จะมีล้มระหว่างทางบ้าง แต่มันคือการเรียนรู้และต้องหาวิธีเรียนรู้แบบรวดเร็วพร้อมปรับเปลี่ยนได้อยู่เสมอ นี่คือจุดสำคัญในการทำธุรกิจนี้”

อย่างไรก็ตาม กฟผ. ไม่ได้ดำเนินการคนเดียว แต่มีพันธมิตรที่เป็นพาร์ทเนอร์ที่พร้อมเติบโตไปด้วยกัน เช่น การจับมือกับค่าย Wallbox ของสเปน เพื่อให้คนไทยได้ใช้อุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้ารถ EV ขนาดเล็กที่ติดตั้งตามบ้านเรือนได้ ซึ่งเป็นของดีราคาไม่แพง ภายใต้แบรนด์ EGAT+Wallbox ส่วนสถานีอัดประจุไฟฟ้านั้น กฟผ. ก็จับมือกับค่ายน้ำมัน PT ติดตั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้าบนพื้นที่ถนนไฮเวย์ ภายใต้แบรนด์ EleX by EGAT และขณะนี้มีการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าในเมือง เช่น ไปตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ กฟผ. เช่น ห้างฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต โฮมโปร สนามกอล์ฟ ริเวอร์เดล และพื้นที่จอดรถของรถไฟฟ้า MRT โดยในปีนี้มีแผนติดตั้งจุดชาร์จไฟฟ้าพื้นที่ MRT แล้ว 2 แห่ง โดยมีเป้าหมายจะให้มีจุดชาร์จไฟฟ้าทุกพื้นที่จอดรถของ MRT

พิชิต ยังได้แนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการจะซื้อรถคันใหม่ว่า รถ EV เป็นเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ ดังนั้นอันดับแรกผู้ที่จะซื้อรถ EV ต้องไปลองก่อน คือ ลองศึกษาข้อมูล ลองขับ อย่ากลัวที่จะเรียนรู้ จากประสบการณ์ส่วนตัวพบว่า ทุกคนที่ลองขับรถ EV พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้ามีรถคันต่อไปจะเป็น EV แน่นอน เนื่องจากดีทั้งสมรรถนะการขับขี่ และคุณภาพรถ และยังช่วยรักษ์โลก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

เรื่องที่สอง คือ การพิจารณาด้านราคาว่า อยู่ในจุดที่รับได้หรือยัง ถ้ายังรับไม่ได้ให้รออีกหน่อย แต่เชื่อว่าเมื่อตลาดรถ EV มีผู้เล่นมากขึ้น การแข่งขันสูงขึ้น ราคารถยนต์จะลดลง ทั้งในเมื่อเทียบกับรถยนต์สันดาป พบว่าในปัจจุบัน ค่าเชื้อเพลิงและค่าบำรุงรักษา ของยานยนต์ไฟฟ้ามีราคาที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับรถยนต์สันดาป ส่วนเรื่องที่สาม ให้พิจารณาลักษณะการใช้งาน เช่น ใช้รถด้านเชิงพาณิชย์ หรือใช้เพื่อขับมาทำงานเป็นส่วนใหญ่ เพื่อดูว่ารถ EV แบบไหนที่เหมาะกับเรา

พิชิต ทิ้งท้ายว่า “อยากให้ลองเปลี่ยนมาใช้รถ EV กันดู จากที่ผมลองใช้งานและเริ่มธุรกิจนี้มา ผมเชื่อว่ารถ EV คืออนาคตอันใกล้ของเรา และเป็นอนาคตของโลกเราด้วย”

Advertisment