FiTโรงไฟฟ้าขยะ เผือกร้อนกระทรวง​พลังงาน ที่ยังไร้ข้อสรุป

2572
- Advertisment-

อัตราการส่งเสริมค่าไฟฟ้าในระบบFeed in Tariff หรือ FiT ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ เป็นเผือกร้อนที่เอกชนกดดันให้กระทรวงพลังงานเร่ง​นำเสนอแนวทางและหลักเกณฑ์ในการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน ปริมาณรับซื้อ 400 เมกะวัตต์ภายในปี 2564 ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ฉบับ ล่าสุด หรือ AEDP 2018 ต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)​ และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)​ที่มีนายกรัฐมนตรี​เป็นประธาน ให้ความเห็นชอบ และให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)​เป็นผู้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้า เพื่อเริ่มต้นโครงการได้

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center -​ENC )​ รายงานว่า ความคืบหน้าล่าสุดของการพิจารณากำหนด FiT อยู่ในขั้นตอนที่ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)​จะนัดหารือ กับผู้แทนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.)​และกรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจสอบข้อมูลร่วมกันในเร็วๆนี้

FiTคือหัวใจสำคัญของโรงไฟฟ้าขยะ ที่ สนพ.และ พพ. ช่วยกันกำหนดอัตราที่เหมาะสม

- Advertisment -

โดย FiTถือเป็นหัวใจสำคัญของการส่งเสริมโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มอบหมายให้ทาง สนพ.และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)​ช่วยกันพิจารณา โดยการกำหนดอัตราFiTที่สูงจนเกินไป จะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ลงทุน และทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกัน หากให้อัตรา FiTที่ต่ำเกินไป ก็จะทำให้เอกชนไม่มีแรงจูงใจในการเข้ามาลงทุน และทำให้นโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ไม่ประสบความสำเร็จ

ก่อนหน้านี้ในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์แรก ตามแผน AEDP 2015 กระทรวงพลังงานกำหนดสูตรFiTออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

(1) อัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนคงที่ (FiTF)​ ​ซึ่งจะคงที่ตลอดอายุโครงการ

(2) อัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนแปรผัน (FiTV) จะปรับเพิ่มขึ้นตามค่าอัตราเงินเฟ้อขั้น
พื้นฐาน (Core inflation) เฉลี่ยของปีก่อนหน้า ตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์

(3) อัตรารับซื้อไฟฟ้าพิเศษ(FiT Premium) ตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการสร้างแรงจูงใจการลงทุนบางประเภทเชื้อเพลิง

โดยFiTโรงไฟฟ้าขยะชุมชนประเภทผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ( VSPP)​ กำลังผลิตไฟฟ้า ต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ และทำสัญญาซื้อขายกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)​จะมีอัตราประมาณ 5.78-6.52 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 20 ปี (FiTพรีเมี่ยม 70 สตางค์ ให้เฉพาะช่วง 8 ปีแรก)​ ซึ่งถือว่า จูงใจเอกชนผู้ลงทุนค่อนข้างมาก โดยมี VSPP เสนอขายไฟฟ้าถึง 43 ราย กำลังผลิตติดตั้งรวม 361.08 เมกะวัตต์ (มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการในระยะแรก (Quick Win Projects) (VSPP) จำนวน 12 แห่ง กำลังผลิตติดตั้งรวม 86.40 เมกะวัตต์ ทำให้มีปริมาณไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 447.48 เมกะวัตต์)​ จนนำไปสู่การผลักดันให้รัฐกำหนดนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน เพิ่มอีก 400 เมกะวัตต์

อัตราFiTที่ใช้ในการรับซื้อไฟฟ้าจาก​ขยะ​ชุมชน​ ตามแผน AEDP2015

ส่วนFiTของโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชนสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ( SPP)​ คือกำลังการผลิตมากกว่า 10 เมกะวัตต์ จะอยู่ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 20 ปี ซึ่งที่ผ่านมา มีเอกชนที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการเพียงรายเดียวคือโครงการของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี (อบจ.นนทบุรี) ที่ดำเนินโครงการตามขั้นตอนแห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ร่วมกับกลุ่มบริษัท เอสพีพี ซิค จำกัด และบริษัท ซุปเปอร์ เอิร์ธ เอนเนอร์ยี 1 จำกัด กำลังผลิต 20 เมกะวัตต์

3 โครงการ SPP ต้องรออัตรา FiT ใหม่ และประกาศรับซื้อไฟฟ้าจาก กกพ.จึงจะขายไฟฟ้าเข้าระบบได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่เป็น SPP อีก 3 โครงการซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือแจ้งยืนยันเข้ามา อีก 3 รายคือ โครงการกำจัดมูลฝอยด้วยระบบเตาเผาขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม กำลังผลิตติดตั้ง 30 เมกะวัตต์ และ โครงการกำจัดมูลฝอยด้วยระบบเตาเผาขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช กำลังผลิตติดตั้ง 30 เมกะวัตต์ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เห็นชอบเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่ง กทม.เซ็นสัญญาให้สัมปทาน บริษัท นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (ประเทศไทย) ที่มีบริษัทแม่อยู่ที่จีน เมื่อ ธ.ค. 2562 นั้น ยังต้องรออัตรา FiTที่จะมีการกำหนดใหม่ สำหรับโควต้า 400 เมกะวัตต์
เช่นเดียวกับโครงการสร้างระบบการจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF ของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช กำลังผลิตติดตั้ง 19.8 เมกะวัตต์ ที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เห็นชอบโครงการไปเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561

VSPP 26 โครงการ จองโควต้าแล้ว 187 เมกะวัตต์

สำหรับโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชนที่เป็น VSPP ที่รอขายไฟฟ้าในโควต้าใหม่ 400 เมกะวัตต์ และรอการกำหนดอัตรา FiTใหม่ เช่นเดียวกันนั้น ปัจจุบันมีเอกชนที่เตรียมพร้อมโครงการรอไว้ล่วงหน้าและอยู่ในลิสต์ ของ สถ.แล้ว จำนวน 26 โครงการกำลังการผลิตรวม 187 เมกะวัตต์ โดยเอกชนที่มีโครงการอยู่ในมือมากที่สุดคือ บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด จำนวน 8 โครงการกำลังการผลิตรวม 52.7เมกะวัตต์ รองลงมาคือกลุ่มเมโทร เอ็นเนอยี่ 3 โครงการ กำลังการผลิต รวม 23.2 เมกะวัตต์ กลุ่มบริษัทท่าฉาง อุตสาหกรรม 3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 22 เมกะวัตต์

รัฐ คำนวณ FiT ตามข้อมูล สถ.และไม่ให้เป็นภาระผู้ใช้ไฟฟ้ามากเกินไป

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ทางสนพ.ได้คำนวณอัตรา FiT ออกมาแล้ว โดยใช้ข้อมูลตัวเลขต้นทุนการลงทุน และต้นทุนการดำเนินการ จาก สถ. เป็นฐานในการคิด ปรากฏว่า ได้ตัวเลข FiTออกมาไม่ถึง 2 บาทต่อหน่วย โดยรัฐมองว่า โรงไฟฟ้าจากขยะชุมชนเป็นกระบวนการส่วนหนึ่งของระบบการจัดการขยะ ที่ผู้ลงทุนมีรายได้จากค่ารับจ้างจัดการขยะ (Tipping Fee)​อยู่แล้ว หากให้อัตรา FiTสูงเหมือนในอดีต จะเป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้าค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตามเมื่อมีแรงกดดันจากภาคเอกชนว่า FiTที่รัฐคำนวณออกมาเป็นตัวเลขที่ไม่จูงใจในการลงทุน ทำให้ต้องมีการหารือเพื่อตรวจสอบข้อมูลกันใหม่

จึงต้องรอติดตามว่าในท้ายที่สุดกระทรวงพลังงานจะสรุปตัวเลข FiTที่เป็นเผือกร้อนอยู่ในขณะนี้ออกมาอย่างไร

Advertisment