ปตท.สผ.แจงเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณล่าช้า ผลิตก๊าซต่ำกว่าสัญญา ​300 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน เร่งผลิตจากอาทิตย์และบงกชเสริม

1141
- Advertisment-

ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. แจงสื่อ การเข้าพื้นที่แหล่งก๊าซเอราวัณไม่ได้ตามแผนส่งผลผลิตก๊าซไม่ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตที่ตกลงไว้กับรัฐ โดยก๊าซที่คาดว่าจะหายไปจากสัญญาประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์​ฟุตต่อวัน หลัง เม.ย. 2565 จะทดแทนด้วยการเพิ่มการผลิตจากแหล่งอาทิตย์และบงกชประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และส่วนที่เหลือเป็น LNG นำเข้า

เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2565 บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จัดบรรยายให้ความรู้สื่อมวลชนผ่านระบบออนไลน์เกี่ยวกับการดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านผู้ดำเนินการของแปลงG1/61 ( แหล่งเอราวัณ )​โดยมี นางสาว เมธ์ลดา ชยวัฒนางกูร ผู้จัดการอาวุโสในฐานะผู้จัดการโครงการ G1(Project Mamager) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ที่ถือหุ้น 100 % ในบริษัท ปตท.สผ.เอ็น​เนอยี่ ดีเวลลอ​ปเมนท์​ หรือ PTTEPED ที่จะเป็นโอเปอเรเตอร์รายใหม่ในแหล่งเอราวัณภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต หรือPSC เป็นผู้บรรยาย

โดยนางสาวเมธ์ลดา กล่าวถึงความคืบหน้าในการเข้าดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณต่อจากผู้รับสัมปทานรายเดิมที่จะหมดอายุ เม.ย. 2565 ว่า ปตท.สผ. คาดหวังว่าจะบรรลุข้อตกลงสัญญาการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณระยะที่ 2 กับทางผู้รับสัมปทานรายเดิม (บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด)ได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ ( ส.ค.-ก.ย. 2564) เพื่อดำเนินการติดตั้งแท่นผลิตปิโตรเลียมให้ได้ 8 แท่นที่จะใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ​ก่อนเข้าสู่ฤดูมรสุม (ต.ค.-พ.ย. 2564 และ ก.พ.2565 ) โดยปัจจุบันแท่นผลิตทั้งหมดดำเนินการเสร็จเรียบร้อยเกือบทั้งหมดแล้ว รอเพียงการเคลื่อนย้ายเข้าไปติดตั้งเท่านั้น

- Advertisment -

ความล่าช้าที่เกิดขึ้นจากแผนที่ควรจะติดตั้งแท่นผลิตดังกล่าวให้แล้วเสร็จตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ส่งผลให้ PTTEPED ที่จะเป็นผู้ดำเนินการรายใหม่ จะไม่สามารถผลิตก๊าซได้ในปริมาณขั้นต่ำ 800 ล้านลูกบาศก์​ฟุตต่อวันได้ในช่วงแรกที่เริ่มสัญญา ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิตตามข้อตกลงที่ทำไว้กับรัฐ ในวันเริ่มต้นสัญญาช่วง เม.ย.2565 ซึ่งคาดว่ากำลังการผลิตก๊าซฯจะทำได้เพียงประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือต่ำกว่าข้อตกลงประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ.เตรียมแผนการเพิ่มการผลิตก๊าซจากแหล่งก๊าซฯในอ่าวไทย ที่บริษัทเป็นโอเปอเรเตอร์อยู่ทั้งแหล่งอาทิตย์ และแหล่งบงกช เพื่อมาชดเชยก๊าซจากเอราวัณที่จะหายไปได้อีกประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และส่วนที่ขาดไปอีก 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทางภาครัฐจะเป็นผู้พิจารณาจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาทดแทน (ปัจจุบันแหล่งบงกชมีกำลังผลิต 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันและแหล่งอาทิตย์มีกำลังผลิต 220 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันและ LNG นำเข้า 1 ล้านตันต่อปี เทียบเท่าปริมาณก๊าซ 140 ล้านลูกบาศก์​ฟุตต่อวัน )

นางสาว​เมธ์ลดา กล่าวว่า การลงทุนแท่นผลิตเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มปริมาณก๊าซให้ได้ 800 ล้านลูกบาศก์​ฟุตต่อวันตามสัญญา จะใช้เวลาประมาณ 1 ปีหรือ 1 ปีครึ่ง ซึ่งน่าจะเริ่มลงทุนได้หลังเดือน เม.ย. 2565 ที่เริ่มต้นสัญญาแบ่งปันผลผลิต

ทั้งนี้เมื่อ ปตท.สผ.สามารถเข้าพื้นที่ได้และเริ่มผลิตก๊าซจริง จึงจะทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่าจะสามารถยืนระยะผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณให้ไม่ต่ำกว่า 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ไม่น้อยกว่าระยะเวลา 10 ปีหรือไม่

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า สำหรับแหล่งผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ ที่ปัจจุบันบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้รับสัมปทานดำเนินการอยู่นั้น จะหมดอายุสัมปทานในวันที่ 23 เม.ย. 2565 ) โดยบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ของ ปตท.สผ. โดยร่วมทุนกับบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ที่ชนะการประมูลในแหล่งเอราวัณ(G1/61) เมื่อ ธ.ค. 2561 จะเป็นผู้รับสัญญารายใหม่

ทั้งนี้เดิมแหล่งเอราวัณมีกำลังผลิตก๊าซ 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะมีปริมาณการผลิตลดลงเรื่อยๆ โดยคาดว่าจะเหลือกำลังผลิตในวันสุดท้ายของสัมปทานประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ดังนั้นผู้ดำเนินการรายใหม่จึงต้องมีการเตรียมแผนติดตั้งแท่นผลิตเอาไว้ล่วงหน้า เพื่อเพิ่มการผลิตก๊าซจากหลุมผลิตใหม่ให้ได้ตามสัญญา แต่เมื่อไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับผู้รับสัมปทานเดิมเพื่อเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 ได้ตามกำหนดเวลา และผิดสัญญา​กับรัฐ จึงต้องมีการเจรจากับรัฐว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นใครจะต้องเป็นผู้รับภาระ

Advertisment