โฆษก​ กกพ. แจงเหตุผล ทำไมคน​ Work From​ Home​ ต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น

1910
- Advertisment-

โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน​ (กกพ.) ชี้แจงมาตรการ Work From Home เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ส่งผลให้ประชาชนซึ่งทำงานที่บ้านมีค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าสูงขึ้น เพราะภาครัฐยังไม่มีมาตรการช่วยลดค่าไฟฟ้าเช่นที่เคยดำเนินการเยียวยามาก่อนหน้านี้​ และเป็นเพราะการคิดอัตราค่าไฟฟ้าแบบก้าวหน้า ที่คนใช้ปริมาณมากจ่ายในเรทที่แพงกว่าคนที่ใช้ไฟน้อย​

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. ชี้แจงถึง​ มาตรการทำงานที่บ้าน​ (Work from home) ที่ภาครัฐประกาศขอความร่วมมือให้ข้าราชการและภาคประชาชนทำงานที่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19​ ระลอกใหม่ และส่งผลให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าที่สูงขึ้นกว่าช่วงก่อน​ Work​ From​ Home​ ว่า เป็นเพราะภาครัฐยังไม่ได้มีการกำหนดมาตรการออกมาช่วยเหลือค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชน​ เช่นเดียวกับเมื่อครั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกแรกและระลอกที่สอง เนื่องจาก​ กกพ. ได้นำเงินในส่วนของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าไปช่วยลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนตามนโยบายการช่วยเหลือในครั้งแรกและครั้งที่สองไปจนหมดแล้ว ซึ่งหากจะมีนโยบายให้การช่วยเหลือในครั้งใหม่นี้​ รัฐจะต้องจัดสรรเงินงบประมาณมาดำเนินการ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ.

นอกจากนี้ในการคิดอัตราค่าไฟฟ้าในส่วนของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทครัวเรือน​ จะเป็นการคิดแบบอัตราก้าวหน้า​ คือ​ยิ่งมีจำนวนหน่วยที่ใช้ไฟมาก​ ก็จะยิ่งต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงขึ้น​ เนื่องจากภาครัฐต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประหยัดไฟฟ้า

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม​ ในส่วนประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าไม่ถึง 50 หน่วยต่อเดือน​ จะยังได้ใช้ไฟฟ้าฟรีตามนโยบายรัฐ​ ซึ่ง กกพ. ยังมีเงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่เป็นรายจ่ายประจำไปช่วยเหลือประมาณ 100 ล้านบาทต่อเดือน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน​ ​( Energy News Center-ENC​) รายงานว่า นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ในครั้งแรก กกพ. ได้ใช้เงินเข้าไปช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าประชาชนระหว่าง เม.ย.-พ.ค. 2563 ไป เป็นจำนวน​ 26,612 ล้านบาท โดยเป็นเงิน Claw Back หรือ “เงินที่ กกพ. เรียกคืนมาจาก 3 การไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ลงทุนตามแผน” มาจ่ายทั้งหมด

ส่วนการแพร่ระบาดใหญ่ครั้งที่ 2 กกพ. ใช้เงินเพื่อลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงิน Claw Back ประมาณ 3,000 ล้านบาท และอีก 4,000 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณที่รัฐบาลเป็นผู้จัดสรร​

ส่วนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3​ ล่าสุด นี้ รัฐบาลยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือใดๆ ออกมา เนื่องจากการ Work from home รอบนี้ไม่ได้เป็นการประกาศเคอร์ฟิว แต่เป็นการขอความร่วมมือจากประชาชนเท่านั้น

Advertisment