ก้าวสู่ปีที่ 53 กฟผ.ประกาศความมุ่งมั่นสู่พลังงานสะอาดสังคมไร้คาร์บอนครบวงจรตั้งแต่ภารกิจต้นน้ำในการผลิตไฟฟ้าและธุรกิจซื้อขายและรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certification) ภารกิจกลางน้ำในเรื่องระบบส่งไฟฟ้าต้องพัฒนาสู่โครงข่ายอัจฉริยะ (Smart Grid) ที่สามารถรับซื้อไฟจากพลังงานหมุนเวียนกลับเข้าสู่ระบบโดยศูนย์ควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE Control Center) และปลายน้ำ ในส่วนการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)
วานนี้ (29 เมษายน 2564) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนา กฟผ. ครบรอบ 52 ปี ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. พร้อมคณะผู้บริหารและพนักงานเข้าร่วมรับฟัง
โดยนายกุลิศ กล่าวถึงภาพรวมทิศทางพลังงานโลกที่ให้ความสำคัญต่อการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหากประเทศไทยไม่มีมาตรการที่ชัดเจนก็จะได้รับผลกระทบทางการค้าจากมาตรการกีดกันในอนาคตอันใกล้อย่างมีนัยสำคัญ
ส่งผลให้กระทรวงพลังงานต้องกำหนดกรอบนโยบายภายใต้แผนพลังงานชาติ (NEP2022) ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำ เพื่อรองรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนมากกว่าร้อยละ 30
ดังนั้นการก้าวสู่ปีที่ 53 ของ กฟผ. จึงต้องปรับตัวให้ทันสมัยมุ่งสู่พลังงานสะอาด เดินหน้าสู่สังคมไร้คาร์บอนในอนาคต ตั้งแต่ภารกิจต้นน้ำในการผลิตไฟฟ้าต้องเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด อาทิ การลงทุนโครงการโซลาร์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนของ กฟผ. โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีชุดที่ 1-2 ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) เพื่อส่งไฟฟ้าให้กับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการเดินหน้าธุรกิจซื้อขายและรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certification) ซึ่ง กฟผ. เป็นผู้รับรองใบอนุญาตรายเดียวในประเทศไทยเพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้านำไปรับรองคาร์บอนเครดิต
ภารกิจกลางน้ำในเรื่องระบบส่งไฟฟ้าต้องพัฒนาสู่โครงข่ายอัจฉริยะ (Smart Grid) ที่สามารถรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกลับเข้าสู่ระบบโดยศูนย์ควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE Control Center) ควบคู่กับการติดตั้งแบตเตอรี่ที่สถานีจ่ายไฟฟ้าย่อยเพื่อเสริมความมั่นคง การซื้อขายไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการแก้ไข พ.ร.บ.กฟผ. เพื่อรองรับธุรกิจนำเข้า LNG
และภารกิจปลายน้ำในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้าหลังมิเตอร์รองรับการพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ โดยเฉพาะการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่เป็นพลังงานสะอาด ลดปัญหา PM 2.5 ซึ่ง กฟผ. ได้ดำเนินการร่วมกับพันธมิตรขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) พัฒนาแอพพลิเคชัน นำร่องวินจักรยานยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนี้นายกุลิศ ยังมอบหมายให้ กฟผ. เร่งศึกษาธุรกิจภายใต้บริษัทที่ร่วมทุนกับ RATCH และ EGCO ในการต่อยอดนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ รวมถึงร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพที่น่าสนใจเพื่อเดินหน้าสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ที่หลากหลาย แสวงหาโอกาสในการต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งด้วย
ด้านนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า กฟผ. มุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่ความยั่งยืนด้วยพลังงานสะอาด ทั้งการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ การเดินหน้าสู่ธุรกิจ EGAT EV Business เพื่อตอบโจทย์พลังงานสะอาด แต่การเปลี่ยนผ่านพลังงานในครั้งนี้ไม่สามารถทำได้แบบพลิกฝ่ามือด้วยบริบทของประเทศและข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียน ยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าหลักเพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง รวมถึงช่วยรักษาสมดุลค่าไฟฟ้าของประเทศให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม