กฟผ.และภาคีเครือข่าย ประกาศเจตนารมณ์ “Breathe our Future รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต”

475
- Advertisment-

กระทรวงพลังงาน กฟผ. ร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ GISTDA  และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศเจตนารมณ์ “Breathe our Future รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต” ในการร่วมกันจัดการพลังงาน คุณภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม โดยจะมีการบูรณาการในด้านการพัฒนาระบบฐานข้อมูล เพื่อสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในการคาดการณ์มลพิษทางอากาศ และสร้างเครื่องมือสำหรับให้บริการข้อมูลในการติดตามสถานการณ์มลพิษทางอากาศ เพื่อแจ้งเตือนให้กับประชาชนได้รับทราบสถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศ  ในขณะที่ปี 2564 กฟผ. มีแผนการติดตั้งจุดตรวจวัดฝุ่นละอองจำนวน 200 จุด ในพื้นที่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า เขต เขื่อนของ กฟผ. เครือข่ายห้องเรียนสีเขียว และสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

วันนี้ (4 มีนาคม 2564) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีประกาศเจตนารมณ์การจัดการพลังงาน คุณภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม “Breathe our Future รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต” พร้อมด้วย ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า จากอดีตถึงปัจจุบัน กฟผ. ได้ช่วยดูแลคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมผ่านเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพผ่านโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 และโครงการห้องเรียนสีเขียว รวมทั้งดูแลสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการปลูกป่า รักษาและลดการเผาป่า โดยจะต่อยอดการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นภายใต้แนวคิด EGAT Air TIME ประกอบด้วย

- Advertisment -

– T (Tree) การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อเพิ่มการดูดซับอากาศเสีย สร้างอากาศบริสุทธิ์ ผ่านโครงการปลูกป่า สร้างฝาย รวมไปถึงการดำเนินงานจิตอาสาป้องกันไฟป่า ลดการเผาป่า

I (Innovation) การพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมการจัดการคุณภาพอากาศ ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการผลิตและใช้พลังงานสะอาด อาทิ โครงการโซลาร์ลอยน้ำ ยานยนต์ไฟฟ้า

– M (Monitoring) ระบบตรวจวัดและแสดงผลคุณภาพอากาศด้วยแอปพลิเคชันรูปแบบต่างๆ เพื่อให้คนรู้และตระหนักนำไปสู่การปรับพฤติกรรม ด้วยการติดตั้งจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ชุมชนรอบ กฟผ. และเครือข่ายห้องเรียนสีเขียว

– E (Education & Engagement) การส่งเสริมองค์ความรู้ สร้างทัศนคติในการจัดการพลังงาน คุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการห้องเรียนสีเขียว ศูนย์เรียนรู้ กฟผ. รวมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน

โดยในปี 2564 กฟผ. มีแผนการติดตั้งจุดตรวจวัดฝุ่นละอองจำนวน 200 จุด ในพื้นที่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า เขต เขื่อนของ กฟผ. เครือข่ายห้องเรียนสีเขียว และสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมทั้งจัดกิจกรรมชาเลนจ์ “EGATลดละรอดปลอดฝุ่น”ชวนคนไทยแชร์ไอเดียลดฝุ่น พร้อมติดแฮชแท็ก #EGATลดละรอดปลอดฝุ่น #รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต #EGATforALL ตั้งแต่ 12 – 30 มีนาคม 2564 ผ่านช่องทาง Facebook และ Instagram พร้อมส่งคำท้าไปยังเพื่อนอีก 5 คน เพื่อรวมพลังคนไทยร่วมรณรงค์สร้างอากาศบริสุทธิ์ด้วยกัน

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือในวันนี้จะเป็นการบูรณาการในด้านการพัฒนาระบบฐานข้อมูล เพื่อสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในการคาดการณ์มลพิษทางอากาศ และสร้างเครื่องมือสำหรับให้บริการข้อมูลในการติดตามสถานการณ์มลพิษทางอากาศ เพื่อแจ้งเตือนให้กับประชาชนได้รับทราบสถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ มีความยินดียิ่งที่ได้ร่วมลงนามความร่วมมือในวันนี้ และพร้อมสนับสนุนข้อมูลคุณภาพอากาศจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ และการดำเนินงานในมิติต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้พี่น้องประชาชน

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวว่า GISTDA ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแบบจำลองในการพยากรณ์คุณภาพอากาศ และการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 ตามภารกิจซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดคุณค่าแก่สังคม โดยการใช้ข้อมูลภาพจากดาวเทียม และการร่วมมือกันครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายที่ทุกหน่วยงานจะต้องร่วมกันลดจุดอ่อน เพิ่มจุดแข็ง สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการรับรู้สถานการณ์ การเฝ้าระวัง เตรียมตัวและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ GISTDA จะร่วมมือกับพันธมิตรเครือข่ายที่รับผิดชอบ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เหมาะสมและสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย

ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้นำองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมเพื่อความยั่งยืน โดยจะร่วมศึกษา ออกแบบ และพัฒนาแบบจำลองการวิเคราะห์และการคาดการณ์ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) รวมถึงประยุกต์ใช้ข้อมูลและการคาดการณ์ฝุ่น PM2.5 ร่วมกับข้อมูลดาวเทียม เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ และเทคโนโลยี Machine Learning ตลอดจนเชื่อมโยงข้อมูลปริมาณฝุ่นละอองและคุณภาพอากาศเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลเปิด (open data) การแสดงผลผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน เพื่อรายงานผลคุณภาพอากาศและการแจ้งเตือนอัตโนมัติกรณีเข้าพื้นที่ที่คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐาน

Advertisment