คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมออกระเบียบรองรับโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีและรูฟท็อปภาคประชาชน ภายใน 1 สัปดาห์หลังคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ผ่านการพิจารณาแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ (PDP) ใหม่ ในวันที่ 7 ม.ค. 2562 เบื้องต้นกำหนดรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ภาคประชาชนไม่เกิน 10 KVA (กิโลโวลต์แอมป์) ต่อบ้านหนึ่งหลัง โดยจะนำร่องรับซื้อก่อน 100 เมกะวัตต์ คาดอัตรารับซื้อที่ 1.80 บาทต่อหน่วย
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.เตรียมออกระเบียบรองรับการเปิดโครงการผลิตไฟฟ้าบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) เสรี และโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชน ซึ่งโครงการดังกล่าวบรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ(PDP)ฉบับใหม่ ที่จะเข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่กำหนดไว้ในวันที่ 7 ม.ค. 2562 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยหากผ่านการพิจารณาของ กพช. แล้ว ทาง กกพ.จะใช้เวลา 1 สัปดาห์ ออกประกาศระเบียบรองรับโครงการดังกล่าว และจะเปิดรับฟังความเห็นต่อกฎระเบียบเป็นเวลา 15 วัน
เบื้องต้น โครงการโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชน จะกำหนดให้ประชาชนขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ไม่เกิน 10 KVA (กิโลโวลต์แอมป์) ต่อบ้าน 1 หลัง และสามารถจ่ายไฟฟ้าย้อนกลับเข้าหม้อแปลงได้ไม่เกิน 15% อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคาดว่าภาครัฐจะนำร่องทดลองรับซื้อไฟฟ้าประมาณ 100 เมกะวัตต์ก่อน
ส่วนโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี เป็นการผลิตไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อใช้เองเป็นส่วนใหญ่ และไม่ได้ขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบนั้น ปัจจุบันมีการผลิตเพื่อใช้เองหลายรายแล้ว โดย กกพ. ต้องเร่งออกกฎระเบียบให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และต้องพิจารณาว่าจะเก็บค่าสำรองไฟฟ้า (Backup) หรือไม่ และกำหนดระเบียบอย่างไรเพื่อไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงไฟฟ้าประเทศ
แหล่งข่าว กกพ. กล่าวว่า สำหรับราคารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชนนั้น เบื้องต้นมีการหารือกันที่อัตรา 1.80 บาทต่อหน่วย เนื่องจากเป็นอัตราที่ไม่มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ โดยพิจารณามาจากอัตราค่าไฟฟ้า 2 กรณี คือ 1.กรณีราคาผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงประเทศราคาจะอยู่ที่ประมาณกว่า 2 บาทต่อหน่วย เช่น โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น และ 2. โรงไฟฟ้าที่ไม่รวมค่าความมั่นคงไว้จะอยู่ที่ 1.80 บาท โดยหากรับซื้อแพงกว่านี้จะมีผลกระทบต่อภาระค่าไฟฟ้าที่ภาครัฐเอาไปชดเชยให้และเป็นภาระโดยรวมต่อค่าไฟฟ้าประเทศได้ อย่างไรก็ตาม อัตราดังกล่าวจะนำมาใช้ในโครงการโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชนหรือไม่นั้น ขณะนี้ภาครัฐยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
นายเสมอใจ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ กกพ. ยังเตรียมศึกษาการออกระเบียบสำหรับภาคเอกชนที่จะใช้ระบบบล็อกเชน สำหรับดูแลการผลิตและซื้อขายไฟฟ้ากันเอง ซึ่งในต่างประเทศใช้กันอย่างแพร่หลาย ขณะที่ประเทศไทยทางภาคเอกชนเริ่มใช้ระบบดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งเร็วๆนี้จะเชิญผู้ประกอบการที่ให้บริการด้านระบบบล็อกเชนมาหารือ เพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับจัดทำการออกระเบียบ เพื่อส่งเสริมการใช้ระบบบล็อกเชนต่อไป
พร้อมกันนี้ กกพ. ยังเตรียมทบทวนการออกใบอนุญาตรองรับเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบรายเล็กดำเนินธุรกิจซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แม้ปัจจุบันภาครัฐจะเปิดให้บุคคลที่สามเข้ามาซื้อขาย LNG แล้ว โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำร่อง จากเดิมที่มีบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำเข้าเพียงรายเดียว แต่การออกใบอนุญาตรองรับการซื้อขาย LNG ในปัจจุบันเป็นเพียงการรองรับการขนส่งก๊าซฯ ทางท่อเท่านั้น แต่ในอนาคตจะมีการนำเข้า LNG มากขึ้น หลังก๊าซฯในอ่าวไทยลดลง ซึ่งจะมีผู้ประกอบการรายเล็กเข้าสู่ธุรกิจมากขึ้น รูปแบบธุรกิจจะเปลี่ยนไป เป็นการขนส่ง LNG จากรถบรรทุก เข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมและจัดเก็บไว้ถังขนาดเล็ก จึงต้องออกใบอนุญาตรองรับธุรกิจดังกล่าว และจะมีการทบทวนอัตราค่าบริการส่งก๊าซฯ (ค่าผ่านท่อก๊าซฯ) ซึ่งปกติจะทบทวนทุก 3-5 ปี ตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันกำหนดอัตราค่าบริการส่งก๊าซฯธรรมชาติอยู่ที่กว่า 21 บาทต่อล้านบีทียู
อย่างไรก็ตาม ทิศทางการบริหารงานของ กกพ. ชุดนี้ จะมุ่งเน้นการออกระเบียบที่เปิดกว้างและไม่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในอนาคต ซึ่งหากมีเทคโนโลยีด้านไฟฟ้าใหม่เกิดขึ้น กกพ. ก็พร้อมจะออกระเบียบเพื่อให้ทดลองใช้ก่อน หากประสบผลสำเร็จจะออกเป็นประกาศเป็นกฎระเบียบที่ชัดเจนต่อไป