ร่างแผน PDP2018 ภาคตะวันออกไร้โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักไปจนถึงปี 2575

1327
- Advertisment-

ร่างแผน PDP2018 ในส่วนของพื้นที่ภาคตะวันออก จะไม่มีโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักโรงใหม่ไปจนถึงปี 2575 โดยตามแผนจะเปิดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่หรือ IPP แข่งขันกับกฟผ. เพียง 2 โรง รวม 1,700 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟเข้าระบบในปี 2576 และปี 2580 เหตุภาคตะวันออกมีปริมาณสำรองไฟฟ้าในระดับที่สูงอยู่แล้ว  คาดกระทรวงพลังงานเสนอร่างแผน PDP ฉบับใหม่ให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบในการประชุมวันที่ 19 ธ.ค. 2561 นี้

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan : PDP) ของประเทศไทย ที่ทางกระทรวงพลังงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) มีการจัด เวทีรับฟังความคิดเห็น (Public  Hearing) ในส่วนภาคตะวันออก ที่จังหวัดชลบุรี ในวันนี้ (7 ธ.ค.61) นั้น มีประเด็นที่น่าสนใจคือ จะไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าหลักที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ตั้งแต่ปี 2562-2575 เนื่องจากมีกำลังการผลิตสำรองไฟฟ้าในระดับที่สูงกว่าความต้องการใช้ โดยโรงไฟฟ้าหลักโรงใหม่โรงแรกตามแผน PDP2018 ขนาดกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ นั้นจะเข้าสู่ระบบในปี 2576 ซึ่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)จะต้องประมูลแข่งขันราคาต้นทุนการผลิตกับ IPP  และโรงที่สอง ขนาดกำลังการผลิต700 เมกะวัตต์ จะเข้าสู่ระบบในปี 2580

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าแผน PDP2018 ในส่วนของภาคตะวันออกนั้นมีการบรรจุการผลิตไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก หรือ SPP อยู่เช่นเดียวกับ PDP2015 ซึ่งหมายความว่า SPP Cogeneration ที่สิ้นสุดอายุจำนวน25 โครงการ น่าจะได้รับการพิจารณาต่ออายุทั้งหมด

- Advertisment -

โดยในปี 2560 นี้ค่าพยากรณ์พลังไฟฟ้าสูงสุดของภาคตะวันออก อยู่ที่ประมาณ 5,084 เมกะวัตต์ และจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 7,029 เมกะวัตต์ ในปี 2570 และเพิ่มเป็น 10,033 เมกะวัตต์ ในปี 2580 เมื่อสิ้นสุดแผน ในขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้า ปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 10,000 เมกะวัตต์  และปี 2570 กำลังการผลิตอยู่ที่ 14,000 เมกะวัตต์ ใกล้เคียงกับปี 2580 ซึ่งจะเห็นว่า ปริมาณสำรองไฟฟ้าในภาคตะวันออก ยังมีในระดับสูงโดยที่ไม่จำเป็นจะต้องลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่

ด้านนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท  รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ภาคตะวันออกมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม เพราะเป็นภูมิภาคที่รองรับภาคอุตสาหกรรมหลักๆ มีโรงไฟฟ้าของภาคเอกชนกระจายอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันการใช้และการผลิตไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงไป ผู้ประกอบการภาคเอกชนหันมาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ป้อนภาคอุตสาหกรรมของตนเองและมีเหลือจำหน่ายมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มที่ผู้ใช้ไฟฟ้ากลายเป็นผู้ผลิตเอง (Prosumer) เพิ่มขึ้น

โดยหลักการในการจัดทำร่างแผน PDP จะให้ความสำคัญ 3 ด้านคือ 1. ด้านความมั่นคง (Security) สร้างสมดุลระบบไฟฟ้าตามรายภูมิภาค มีการพิจารณาโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงในระดับที่เหมาะสม และเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้า 2. ด้านราคา (Economy) โดยส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำ เพื่อรักษาระดับราคาไฟฟ้าขายปลีกไม่ให้สูงขึ้น และ 3. ด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน การพัฒนาสู่ระบบ Smart Grid เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตลาดสู่การที่ผู้ใช้ไฟฟ้ากลายเป็นผู้ผลิตเอง (Prosumer) ในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ การเปิดรับฟังความคิดเห็นระดับภูมิภาคได้ดำเนินการครบแล้ว 4 ภูมิภาค ในพื้นที่ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่น ภาคใต้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี  และที่ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี จากนั้นจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งที่กรุงเทพฯ ซึ่งความเห็นต่างๆ ที่ได้จากทุกเวทีจะนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงแผน PDP ฉบับใหม่ เพื่อสรุปนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 7 ม.ค. 2562 (เลื่อนจากกำหนดเดิมในวันที่ 19 ธ.ค. 2561) และนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

Advertisment