ปตท.และกฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำกำไรสูงสุด 3 อันดับแรก

3611
- Advertisment-

ปตท.และกฟผ.เป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำกำไรสูงสุด 3 อันดับแรกประจำปีบัญชี 2562 ที่กระทรวงการคลังรายงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2563 ที่ผ่านมา พร้อมเสนอแนะให้รัฐวิสาหกิจมีการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ความปกติใหม่ (New Normal ) ทั้งในส่วนของกระบวนการทำงาน การให้บริการแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ การพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัล และการวางแผนบุคลากร

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2563 ที่ผ่านมา มีวาระที่กระทรวงการคลังได้รายงานผลการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ประจำปีบัญชี 2562 ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบ
โดยประเด็นที่น่าสนใจคือผลการดำเนินงานที่สำคัญ ณ สิ้นปีบัญชี 2562 รัฐวิสาหกิจในระบบประเมินผลฯ 53 แห่งมีสินทรัพย์รวม 15.90 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 4.37 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 4.79 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.55 และค่าใช้จ่ายลดลงร้อยละ 1.37 จากปี 2561 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้กำไรสุทธิโดยรวมลดลงเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อรายได้รวม และอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมเฉลี่ย คิดเป็นร้อยละ 6.46 และ 3.94 ลดลงจากปี 2561 ที่มีอัตราส่วนร้อยละ 6.62 และ 4.37 ตามลำดับ

- Advertisment -

โดย สาขาที่มีกำไรสุทธิมากที่สุด คือ สาขาพลังงาน สาขาสถาบันการเงิน และสาขาขนส่ง ตามลำดับ โดยรัฐวิสาหกิจที่มีกำไรสุทธิสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ส่วนรัฐวิสาหกิจที่มีผลขาดทุนสุทธิ มีจำนวน 15 แห่ง (เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ซึ่งมี 11 แห่ง) ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)  บริษัท ขนส่ง จำกัด องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) องค์การจัดการน้ำเสีย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) องค์การสะพานปลา องค์การคลังสินค้า (อคส.) การยางแห่งประเทศไทย องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย    การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

สำหรับ ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะจากการประเมินผลนั้น กระทรวงการคลังเห็นว่ารัฐวิสาหกิจทุกแห่งต้องทบทวนและปรับตัวให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ความปกติใหม่และความปกติรูปแบบถัดไป ทั้งในส่วนของกระบวนการทำงาน การให้บริการแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ การพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัล และการวางแผนบุคลากร โดยต้องเตรียมการรองรับหรือมีแผนสำรองทางธุรกิจ และเร่งพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รวมทั้งวิเคราะห์ความเสี่ยงในมุมมองต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันกาลเพื่อรองรับการดำเนินมาตรการของภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

สำหรับรัฐวิสาหกิจในสาขาขนส่ง สื่อสาร พลังงาน และสาธารณูปการ ควรศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนแทนการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน และใช้ความเชี่ยวชาญและนวัตกรรมจากภาคเอกชน

ในขณะที่รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายไฟฟ้าต้องปรับรูปแบบการดำเนินงานและการให้บริการให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า และควรปรับปรุงขยายการดำเนินงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การลงทุนในเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอนาคต ตลอดจนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้โดยเร็วเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์กรและลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว รวมถึงวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งเน้นการสร้างการเติบโตในอนาคตด้วย

Advertisment