กกพ.นัดถก 3 การไฟฟ้าก่อนเปิดไทม์ไลน์ประมูลโรงไฟฟ้าชุมชน

997
- Advertisment-

กกพ.นัดถก  3 การไฟฟ้า ก่อนเปิดไทม์ไลน์ประมูลโรงไฟฟ้าชุมชน คาดประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการในเดือน ม.ค. 2564 รู้ผลประมูลภายในไตรมาสแรกของปี 2564 และให้เริ่มผลิตไฟฟ้าเข้าระบบภายใน 3 ปี หลังลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้จัดทำกรอบเวลาการเปิดประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ เสร็จแล้ว แต่อยู่ระหว่างนัดหารือกับ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ., การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.) ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้

จากนั้นจะนำข้อสรุปเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาเห็นชอบ โดยคาดว่าจะสามารถเปิดรับข้อเสนอโครงการจากผู้ที่สนใจได้ในเดือน ม.ค. 2564 นี้ โดยจะมีขั้นตอนการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค สำหรับผู้ที่ผ่านการพิจารณา และขั้นตอนการพิจารณาข้อเสนอด้านราคา ทั้งนี้คาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้ชนะโครงการได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2564 เพื่อทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ต่อไป

- Advertisment -

ในส่วนการเปิดประมูลโครงการนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของบอร์ด กกพ.ว่าจะดำเนินการได้เองหรือไม่ ซึ่งหาก กกพ.ไม่สามารถเปิดประมูลเองได้ ก็อาจพิจารณาให้หน่วยงานการไฟฟ้าเป็นผู้ดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อจัดประมูลโดยตรงต่อไป ทั้งนี้รายละเอียดที่ชัดเจนทั้งหมดจะทราบหลังการพิจารณาของ บอร์ด กกพ.ในเดือน ธ.ค. 2563 นี้

สำหรับมติ กพช.เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2563 ได้เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง เป้าหมาย 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นชีวมวล 75 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์
สำหรับชีวมวลกำหนดปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการและก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย ≤ 25 %) ไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ

ทั้งนี้ มีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายใน 36 เดือน นับถัดจากวันลงนามในสัญญาฯ ให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) แบบแข่งขันทางด้านราคา โดยเพดานราคารับซื้อในส่วน ชีวมวล ที่เสนอขายมากกว่า 3 เมกะวัตต์ อยู่ที่ 4.2636 บาทต่อหน่วย และน้อยกว่า 3 เมกะวัตต์ อยู่ที่ 4.8482 บาทต่อหน่วย ส่วน ชีวภาพ เพดานอยู่ที่ 4.2 บาทต่อหน่วย

โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้เสนอโครงการ สำหรับการแบ่งปันผลประโยชน์ อาทิ การให้หุ้นบุริมสิทธิ 10% ให้กับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย) ซึ่งเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า และการให้ผลประโยชน์อื่น ๆ ให้โรงไฟฟ้าและชุมชนทำความตกลงกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม เช่น ด้านการสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภค ด้านการศึกษา เป็นต้น

Advertisment