เวที Shell Forum ระดมวิสัยทัศน์ทุกภาคส่วน ร่วมเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเพื่ออนาคต มองทิศทางโลกหลังวิกฤตโควิด-19 เน้น 3 ด้าน ความมั่งคั่ง ความมั่นคงปลอดภัย และสุขภาพ ขณะที่เศรษฐกิจดิจิทัลจะพลิกโฉมการขนส่งและคมนาคม ด้าน รมว.พลังงาน ย้ำรัฐบาลพร้อมเร่งมาตรการลดโลกร้อนให้เร็วกว่าเป้าหมาย ร่วมมือชาติอาเซียนขับเคลื่อนในทุกมิติ
วันนี้ (11 พ.ย. 2563) บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด จัดเวทีเสวนา “2020 Shell Forum” ในหัวข้อ “Energy Transition : COVID-19 and Beyond” เพื่อระดมวิสัยทัศน์สถานการณ์ด้านพลังงานในทศวรรษหน้าซึ่งถูกท้าทายจากวิกฤตโควิด-19 โดยมีผู้บริหารจากภาครัฐและภาคเอกชนชั้นนำ ทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมการเสวนา ผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงนโยบายพลังงานของประเทศไทยว่า ทิศทางของรัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับเป้าหมายลดภาวะโลกร้อนและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เช่นเดียวกับสหภาพยุโรปและประชาคมโลกกว่า 200 ประเทศที่มีภารกิจร่วมกันในนาม COP21 โดยประเทศไทยได้ขับเคลื่อนนโยบายพลังงานทดแทน ทั้งไบโอดีเซล ไบโอแมส ไฟฟ้า และไบโอเคมิคัล มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก 25% ภายในปี 2030 และวัดผลทุก 3-5 ปี หากทำได้ดีว่าเป้าหมาย ก็จะเป็นบันไดให้เราก้าวไปเช่นเดียวกับยุโรป และกลุ่มอาเซียนก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากเช่นกัน
“นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่บริษัทเชลล์เป็นต้นแบบที่ดี ที่ได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ พร้อมให้ความสำคัญกับพลังงานเพื่อลดภาวะการปล่อยก๊าซคาร์บอน” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
ด้าน นายปนันท์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า แม้โรคระบาดโควิด-19 จะนำมาซึ่งความท้าทายหลายประการ แต่สำหรับเชลล์ประเทศไทย ในฐานะพันธมิตรที่ไว้วางใจได้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย เราปรับเปลี่ยนความท้าทายเหล่านั้นเป็นโอกาสในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งขณะนี้ได้เดินหน้าไปตามแผนและกลยุทธ์ที่วางไว้ แต่การไปสู่เป้าหมายขึ้นกับการกำหนดแนวทางที่สอดคล้องร่วมกันของภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนด้วย
“แนวทางและความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากเวที 2020 Shell Forum ในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถนำไปตัดสินใจต่อทิศทางพลังงานในอนาคตได้เป็นอย่างดี” นายปนันท์ กล่าวแก่ผู้ร่วมเสวนา
นายเคส พิเทอร์ ราเดอ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “วิกฤติโควิด-19 เป็นโอกาสที่รัฐบาลทั่วโลกจะออกแบบมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ส่งเสริมพลังงานสะอาดต่างๆ เพราะมีงบประมาณอัดฉีดเข้าสู่ระบบถึง 19 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ”
ในเวที 2020 Shell Forum ยังมีการนำเสนอแบบจำลองทิศทางพลังงานในทศวรรษ 2020 หรือ ‘Rethinking the 2020s’ ภายใต้โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้พลังงานเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสร้างความยั่งยืน เพื่อให้ชีวิตของผู้คนมีความสุข
ดร.โช-อุน คง หัวหน้านักวิเคราะห์ด้านการเมือง เชลล์ อินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่า โลกในทศวรรษ 2020 ให้ความสำคัญกับ 3 เรื่อง ระหว่าง ความมั่งคั่ง (Wealth) ความมั่นคงปลอดภัย (Security) และสุขภาพ (Health) ขึ้นกับแต่ละสังคมว่า จะเลือกจัดลำดับความสำคัญอย่างไร
“ถ้าคนทั่วโลกเลือกให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพเป็นอันดับแรก เราจะเห็นการปรับโครงสร้าง เพื่อปูทางไปสู่พลังงานที่ยั่งยืนและไปสู่เป้าหมายปฏิญญาปารีสที่ต้องการลดภาวะโลกร้อน” ดร.โช-อุน คง ให้ความเห็น
สำหรับอีกหัวข้อเสวนาที่น่าสนใจคือ “Mobility of the Future” ได้นำเสนอแนวโน้มระบบขนส่งในอนาคต โดย อเมอร์ อเด็ล รองประธาน เชลล์ รีเทล อีสต์ มองว่า ความต้องการของผู้บริโภคที่จะปรับตัวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดอนาคตการเดินทางและขนส่งในประเทศไทย ขณะที่รัฐบาลอาศัยนโยบายคมนาคมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และภาคอุตสาหกรรรมจัดหาโครงสร้างพื้นฐานและการวิจัยพัฒนาพลังงานให้ดียิ่งขึ้น
“สิ่งที่สำคัญคือถึงเวลาแล้วที่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ขับเคลื่อนการให้บริการ และลูกค้า จะต้องมีเจตจำนงร่วมกัน เพื่อปูทางไปสู่วิถีพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง” อเมอร์ อเด็ล กล่าวสรุป