กระทรวงพลังงานพร้อมเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ไตรมาส3 ปี 64

2122
- Advertisment-

“สุพัฒนพงษ์” เตรียมนัดถก กระทรวงมหาดไทย ก่อนเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในปริมาณ 400 เมกะวัตต์ ในไตรมาส 3 ปีหน้า ในขณะที่ การลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงไฟฟ้าขยะชุมชนของเทศบาลนคร ภูเก็ต เพื่อรับพิจารณาข้อเสนอเปลี่ยนรูปแบบการส่งเสริมจากระบบ แอดเดอร์ เป็น Feed in Tariff -FiT ที่จะช่วยแก้ปัญหาขยะล้นเมืองของ จ.ภูเก็ต ในอนาคต

วันนี้ (2 พ.ย.2563 )รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ พร้อมด้วยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ภูเก็ต เยี่ยมชมการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในจังหวัดภูเก็ตเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ของเทศบาลนครภูเก็ต ก่อนที่จะมีการกำหนดแนวนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน ตามที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก AEDP 2018 และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือ PDP2018 rev1

โดย นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ตามแผนPDP2018 rev1กำหนดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในปริมาณ 400 เมกะวัตต์ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะมีการหารือกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแลในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการขยะชุมชน ก่อนที่จะมีการกำหนดแนวนโยบายและหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้า ภายใต้ระบบ Feed-in Tariff หรือ FIT ภายในปี 2564 เพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายในปี 2565 ตามเป้าหมาย

- Advertisment -

โดยมองว่าการที่กระทรวงพลังงานส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนจะช่วยตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงทางพลังงานและการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าที่รับซื้อก็ไม่ได้เป็นภาระกับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้ามากนัก

สำหรับการเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าขยะชุมชนของเทศบาลนคร ภูเก็ต ที่มีประเด็นของข้อเสนอที่จะเปลี่ยนรูปแบบการส่งเสริมจากระบบแอดเดอร์ เป็นระยะเวลา 7 ปี มาเป็นระบบ Feed-in Tariff ในระยะเวลา 20 ปี นั้น หากสามารถที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความคุ้มทุนและรองรับการจัดการสิ่งแวดล้อมจากขยะชุมชนที่จะล้นเมืองในอนาคตได้ ก็จะมีการนำไปพิจารณาในภาพรวมพร้อมกัน

ทั้งนี้การบริหารจัดการขยะมูลฝอยของภูเก็ตในปีงบประมาณ 2563 นั้น มีขยะมูลฝอยเข้าสู่ศูนย์กำจัดขยะฯ เฉลี่ย 833 ตัน/วัน ซึ่งลดลง 13.5% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อนหน้านี้ จากปัจจัยของโควิด-19 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง

โดยจะเป็นขยะที่คัดแยกเบื้องต้นจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 3 อำเภอในจังหวัดภูเก็ต ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอกะทู้ และอำเภอถลาง และนำมากำจัดโดยการเผาในเตาซึ่งจะได้พลังงานความร้อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนขยะทั่วไปจะนำไปฝังกลบตามหลักสุขาภิบาล
ทั้งนี้ มีโรงเตาเผาขยะมูลฝอย 2 โรง โดยโรงเตาเผาขยะมูลฝอยชุมชน 1 เป็นเตาเผาที่กรมโยธาธิการและผังเมืองถ่ายโอนให้เทศบาลนครภูเก็ตดูแล งบประมาณ 788 ล้านบาท กำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุด 2.5 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้า 144 หน่วย/ตันขยะ ปัจจุบันหยุดการดำเนินการ และอยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติให้เอกชนร่วมดำเนินการ

ส่วนอีกโรงเป็นเตาเผาที่บริษัท พีเจทีเทคโนโลยี เป็นผู้รับสัญญาดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 งบประมาณ 994 ล้านบาท กำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุด 12 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้า 350 หน่วย/ตันขยะ

กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน

ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้ขอให้บริษัทเอกชนที่เป็นผู้รับสัญญา ของเทศบาลนครภูเก็ต ที่ดำเนินการโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชน จัดส่งเอกสารรายละเอียดเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน รายรับ รายจ่าย สภาพคล่อง ให้กับกระทรวงพลังงานพิจารณา เพื่อให้มีข้อมูลที่จะตอบคำถามได้ว่า ระบบการส่งเสริมแบบแอดเดอร์ นั้น ทำให้ผู้ประกอบการไม่คุ้มทุนอย่างไร และระบบ Feed in Tariff -FiT จะช่วยให้บริษัทมีผลประกอบการที่ดีขึ้น และมีประสิทธิภาพในการจัดการขยะของภูเก็ตในอนาคตได้อย่างไร

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะมีการพิจารณาเรื่องของการเปลี่ยนระบบ แอดเดอร์เป็น Feed in Tariff ไปพร้อมกับโรงไฟฟ้าขยะชุมชนอื่นๆที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกันอีก 17 โรง ที่ยื่นข้อเสนอมาในภาพรวม ในขณะที่ การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ ตามแผนPDP2018 rev1 คาดว่าจะสามารถดำเนินการออกประกาศได้ประมาณไตรมาสที่ 3 ของปี 2564

Advertisment