ครม.ไฟเขียวมติ กพช.ครั้งที่ 1/2563 แล้ว หลังรอมานาน 7 เดือน

2282
- Advertisment-

หลังรอมา 7 เดือนในที่สุด คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบและรับทราบมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2563 (ครั้งที่ 150) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เสนอ ซึ่งมีผลให้ 5 แผนหลักของกระทรวงพลังงาน ประกอบด้วย ร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP2018 ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ แผน PDP2018 Rev.1 (ที่มีเรื่องโรงไฟฟ้าชุมชน จำนวน 1,933 เมกะวัตต์ บรรจุอยู่ในแผน) ร่างแผนอนุรักษ์พลังงานหรือ แผน EEP2018 , ร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ หรือGas Plan 2018 และแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแทนฉบับเดิม

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2563 มีมติเห็นชอบและรับทราบมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2563 (ครั้งที่ 150) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เสนอ โดยถือเป็นการทิ้งช่วงการเห็นชอบและรับทราบเพื่อให้ มติกพช.ถูกนำไปใช้ปฏิบัติอย่างเป็นทางการนานถึง 7 เดือน

โดยมติครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบมติกพช.ดังกล่าว มีจำนวน 5 เรื่อง ได้แก่ (1) ร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580 (Alternative Energy Development Plan 2018 : AEDP2018) (2) ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (Power Development Plan : PDP2018 Rev.1) (3) ร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561 – 2580 (Energy Efficiency Plan : EEP2018) (4) ร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 (Gas Plan 2018) (5) แผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563 – 2567 ซึ่งเป็นแผนระดับ 3 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 เรื่อง แนวทางการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

- Advertisment -

และครม.มีมติรับทราบมติของกพช. จำนวน 5 เรื่อง ได้แก่ (1) แนวทางการส่งเสริมพื้นที่ติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station Mapping) (2) การศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า (3) โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) (4) การกำหนดอัตราส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และ (5) ข้อปรับปรุงหลักการและรายละเอียดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลจากการที่ครม.มีมติครั้งนี้ มีผลให้ทั้ง 5 แผนหลักด้านพลังงานถูกนำมาใช้ปฏิบัติแทนแผนเดิม โดยเฉพาะ แผนPDP2018 Rev.1 ที่มีการบรรจุโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 1,933 เมกะวัตต์ อยู่ในแผน ถูกนำมาใช้แทน PDP2018 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามแผนPDP2018 Rev.1 ดังกล่าวจะถูกใช้ไปแค่อีก 1 ปี เท่านั้น เนื่องจากในปีหน้า กระทรวงพลังงานจะมีการจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่ ที่สอดคล้องกับการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงจากผลกระทบของโควิด-19 และการแก้ปัญหาสำรองไฟฟ้าที่มีอยู่ระดับสูงในระบบซึ่งจะมีการเลื่อนชะลอ หรือยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าบางโครงการที่อยู่ในแผน แผนPDP2018 Rev.1 ออกไป รวมทั้งการลดปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากลงในระดับที่ไม่ส่งผลต่อปริมาณสำรองไฟฟ้า และ ภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชน

Advertisment