รู้จัก “เพทาย หมุดธรรม” และ “ภูมี ศรีสุวรรณ” กับบทบาทของผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน

2552
- Advertisment-

รู้จัก “เพทาย หมุดธรรม” และ “ภูมี ศรีสุวรรณ” ในตำแหน่งใหม่ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน  กับบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบสำคัญ ที่เป็นเสมือน หู ตา ปาก และสมอง ของกระทรวงพลังงาน

เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2563 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี ได้มีมติแต่งตั้งผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน สังกัดสำนักปลัดกระทรวงพลังงาน คนใหม่ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเสนอ ทั้ง 2 คน คือ นายเพทาย หมุดธรรม ขยับขึ้นจากตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) และอีกคนคือ นายภูมี ศรีสุวรรณ ขยับจากตำแหน่งรองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

กระทรวงพลังงานมีตำแหน่งผู้ตรวจราชการทั้งสิ้น 6 ตำแหน่ง ปัจจุบันมีผู้นั่งในตำแหน่งนี้อยู่แล้ว 3 คน คือนายทวารัฐ สูตะบุตร เป็นหัวหน้าผู้ตรวจราชการ อีก 2 คนคือ นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ และ นายหร่อหยา จันทรัตนา รวมอีก 2 คนที่ครม.แต่งตั้งเข้ามาใหม่คือ นายเพทาย และนายภูมี โดยยังขาดอีก 1 ตำแหน่ง ที่รอ ครม.แต่งตั้งเพิ่มให้ครบ

- Advertisment -

โดยบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงานนั้นหลักๆ จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และปลัดกระทรวงพลังงาน ในการติดตามงานของแต่ละหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ หรือมีปัญหาอุปสรรคใดที่ต้องการให้เข้าไปช่วยแก้ไข

ซึ่งหัวหน้าผู้ตรวจราชการฯจะมีการแบ่งงานให้กับผู้ตรวจแต่ละคนในการติดตามดูแลฯ กรมต่างๆ ในกระทรวงพลังงาน ประกอบด้วย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ. กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมธุรกิจพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. และรัฐวิสาหกิจในกำกับดูแล ทั้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) รวมทั้งแบ่งการดูแล พลังงานจังหวัด ที่มีอยู่ทั่วประเทศ 18 เขต ซึ่งเท่ากับผู้ตรวจราชการฯแต่ละคนจะดูแลคนละ 3 เขต หรือครอบคลุมพื้นที่คนละ 12-13 จังหวัด

นอกจากนี้บทบาทของผู้ตรวจราชการฯที่สำคัญอีกประการ คือ การเป็นกรรมการตรวจสอบวินัยป้องกันปัญหาการทุจริตไม่ให้เกิดขึ้นในกระทรวงพลังงาน โดยหากมีข้อร้องเรียนจากประชาชนหรือผู้ประกอบการด้านการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของข้าราชการ ก็จะเข้าไปสอบถามตรวจสอบข้อเท็จจริง

ว่าไปแล้วตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการฯ นั้นเปรียบเสมือน หู ตา ปากและสมองของผู้บริหารกระทรวงพลังงาน โดยการเป็น “หู” คือรับฟังความคิดเห็นประชาชน ข้อร้องทุกข์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สืบสวนสอบสวนให้ได้ข้อยุติ

การเป็น ”ตา” คือการติดตามดูงานว่าเป็นไปตามนโยบาย ระเบียบ เป้าหมายยุทธศาสตร์พลังงานและมีความก้าวหน้าหรือไม่อย่างไร

การเป็น “ปาก” คือ คอยชี้แจง สร้างความเข้าใจแนวทางปฏิบัติกับฝ่ายปฏิบัติงาน และรายงานให้ผู้บริหารได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริง หากเกิดปัญหาอุปสรรคก็ต้องขอความชัดเจนด้านนโยบายเพื่อแก้ปัญหาให้ลุล่วงต่อไป

และการเป็น “สมอง” คือ เมื่อทราบปัญหาก็ต้องวิเคราะห์แก้ไข รวมถึงการให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้บริหารด้วย

เพทาย หมุดธรรม ขยับจากรองผอ.สนพ. เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน

สำหรับนายเพทาย หมุดธรรม ที่จะมาเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงานคนใหม่ นั้นเป็นข้าราชการหนุ่ม ที่จะเป็นกำลังหลักสำคัญของกระทรวงพลังงานต่อไปในอนาคต โดยเส้นทางการรับราชการนั้น เติบโตในหน่วยงานสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) มาโดยตลอด  ตำแหน่งที่สำคัญคือ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ของ สนพ.ในปี 2558 จากนั้นในปี 2560 ก็ขยับขึ้นมาเป็นรองผู้อำนวยการ สนพ. ก่อนจะได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน

ภูมี  ศรีสุวรรณ ขยับจากรองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็น ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน

ขณะที่นายภูมี  ศรีสุวรรณ ก็ถือเป็นลูกหม้อของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมาโดยตลอดเช่นเดียวกัน ตำแหน่งที่สำคัญคือ ผู้อำนวยการสำนักจัดการเชื้อเพลิงธรรมชาติ และผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีการประกอบกิจการปิโตรเลียม ล่าสุดเป็นรองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ก่อนจะได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงานในครั้งนี้

นายเพทาย กล่าวถึงการได้รับการแต่งตั้งเป็นตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน ในครั้งนี้ว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอโปรดเกล้าฯ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าประสบการณ์และความสามารถด้านการดูแลและกำกับงานด้านนโยบายพลังงาน ทั้งไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ที่ผ่านมาจะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่องานผู้ตรวจราชการได้ โดยยังคงยึดมั่นการทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่เพื่อก่อประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติเป็นสำคัญ

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานเพิ่มเติมว่า ในยุคที่การเมืองมีความผันผวนไม่แน่นอน ตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอยู่ในวาระไม่นาน นโยบายด้านพลังงานมีการเปลี่ยนบ่อย ตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน ที่ได้นั่งเป็นบอร์ดในรัฐวิสาหกิจ หรือ บริษัทในกลุ่มปตท. ถือเป็นพื้นที่ปลอดภัย หรือ เซฟโซน ที่ผู้บริหารต้องการ เพื่อรอขยับย้ายไปนั่งเป็นอธิบดี หรือรองปลัดกระทรวง ในจังหวะที่เหมาะสมต่อไป

Advertisment