รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเผยรัฐยังมีความพยายามไกล่เกลี่ยเชฟรอน ให้ได้ข้อยุติที่ดีที่สุด กรณีที่เชฟรอนยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน พร้อมเตรียมLNG นำเข้าเสริมความมั่นคง หากปริมาณการผลิตก๊าซจากแหล่งดังกล่าวลดปริมาณลง ในขณะที่ซีอีโอปตท.สผ. เชื่อยังสามารถเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นผลิตเพิ่มอีก 8 แท่นในแหล่งเอราวัณได้ตามแผน พร้อมรับผิดชอบการรื้อถอนแท่นเฉพาะในส่วนที่บริษัทเข้ามาใช้ประโยชน์
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตอบคำถามถึงกรณีที่ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด มีหนังสือถึงกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติว่า ทางบริษัทเชฟรอน ที่สหรัฐอเมริกาได้ยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ยื่นฟ้องรัฐไทยในประเด็นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ว่า รัฐยังพยายามที่จะให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยกับทางเชฟรอน เพื่อให้ได้ข้อยุติที่ดีที่สุด ซึ่งกระบวนการอนุญาโตตุลาการไม่ได้ห้ามเอาไว้
ส่วนคำถามเรื่องใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนหากรัฐไทยไม่ชนะคดี นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ตอบไม่ได้เพราะเรื่องได้เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการแล้ว
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวด้วยว่า รัฐมีการเตรียมความพร้อมในการนำเข้าLNG มาเสริมความมั่นคง หากกรณีดังกล่าวกระทบต่อปริมาณการผลิตก๊าซในแหล่งเอราวัณ
ก่อนหน้านี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการปิโตรเลียมให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า กระทรวงพลังงานได้มีการตั้งคณะทำงาน ทีมกฏหมายทั้งในและต่างประเทศ และทีมอนุญาโตตุลาการฝ่ายไทยไว้สู้คดีดังกล่าวพร้อมแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยในรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นที่ทางเชฟรอนยื่นฟ้องได้เนื่องจากจะมีผลต่อรูปคดี แต่ยังเปิดทางที่จะให้มีการเจรจาระหว่างกันเพื่อหาข้อยุติ
ด้านนายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน ) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า กรณีที่เชฟรอน เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการเพื่อไกล่เกลี่ยในประเด็นที่เห็นไม่ตรงกันกับรัฐ เรื่องค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณที่รัฐรับโอนมาเพื่อใช้ประโยชน์ต่อ ว่า ประเด็นดังกล่าวคงไม่กระทบกับการเข้าพื้นที่ของปตท.สผ.ในฐานะเป็นโอเปอเรเตอร์รายใหม่ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิตที่จะเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นผลิตเพิ่มจำนวน 8 แท่น ที่กำหนดไว้กลางปี 2564 ทั้งนี้ ปตท.สผ.จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการรื้อถอนแท่นผลิตที่รัฐรับโอนมา ตามสัดส่วนเฉพาะที่ใช้ประโยชน์ ซึ่งยังไม่ได้มีการคำนวณตัวเลขที่ชัดเจนออกมา
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนต.ค. 2562 ทางเชฟรอน สหรัฐอเมริกาได้ระงับกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่จะยื่นฟ้องต่อรัฐไทยเอาไว้ชั่วคราว เพื่อให้มีการเจรจาหาข้อยุติระหว่างกันภายใน 180 วัน หรือภายใน มี.ค. 2563 ตามที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในสมัยนั้นร้องขอ แต่การเจรจาดังกล่าวไม่เป็นผลเนื่องจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังยืนยันที่จะปฏิบัติตามกฎกระทรวง เรื่องกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมพ.ศ. 2559 ภายใต้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่ให้เชฟรอนวางหลักประกันที่จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมทั้งหมด ทั้งในส่วนที่รัฐรับโอนมาใช้ประโยชน์ต่อ จำนวน 142 แท่น และส่วนที่รัฐไม่ได้รับโอนอีก 49 แท่นด้วย
ทั้งนี้ฝ่ายรัฐของไทยได้ตรียมวงเงินงบประมาณตามที่ครม.เห็นชอบไว้พร้อมแล้วกว่า 450 ล้านบาท สำหรับดำเนินการ พร้อมเปิดช่องเจรจาหาข้อยุติ ในขณะที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ออกเอกสารคำชี้แจงถึงเหตุผลในการเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการอีกครั้ง โดยระบุว่า เพื่อให้ได้รับความชัดเจนเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่จะส่งมอบให้กับรัฐบาลภายหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง
ทั้งนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีการประเมินค่าใช้จ่ายเบื้องต้น สำหรับการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมทั่วไป อยู่ที่ประมาณ 8-10 ล้านเหรียญสหรัฐต่อแท่น