ปตท.-กรมทรัพยากรทางทะเลฯ -จีซี-จุฬาฯจับมือวิจัยพัฒนาอุปกรณ์เพื่อช่วยสัตว์ทะเลพิการ

442
- Advertisment-

ปตท.  – กรมทรัพยากรทางทะเลฯ – จีซี – จุฬาฯ  ลงนามความร่วมมือ วิจัยและพัฒนากายอุปกรณ์เพื่อสัตว์ทะเลพิการ”หวังใช้องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ในด้านการแพทย์สำหรับสัตว์ทะเลหายาก เพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน  5  ปี

เช้าวันนี้  (22  พฤศจิกายน  2561) ณ สำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถนนวิภาวดีรังสิต นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์  อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุพัฒนพงษ์   พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) และ  ศ.ดร. บัณฑิต  เอื้ออาภรณ์  อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามใน “บันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือการวิจัยและพัฒนากายอุปกรณ์เพื่อสัตว์ทะเลพิการ” ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริษัท พีทีที โกลบอล    เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่จะช่วยคืนชีวิตให้สัตว์ทะเลพิการ โดยมีการประยุกต์องค์ความรู้และเทคโนโลยีจาก 4 องค์กร คือ ปตท. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  บริษัท พีทีที  โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมวิจัยและพัฒนากายอุปกรณ์เพื่อสัตว์ทะเลพิการ เนื่องจากปัจจุบันมีเต่าทะเลที่ได้รับบาดเจ็บจากการติดเครื่องมือประมงและใบพัดเรือ ซึ่งต่อมาได้รับการรักษาต้องถูกตัดครีบ เนื่องจากอวัยวะในส่วนดังกล่าวจะเกิดเนื้อตายและติดเชื้อ ทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามปกติเป็นจำนวนมากเพื่ออนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก  รักษาสมดุลประชากรสัตว์น้ำ และระบบนิเวศทางทะเลของไทย อีกทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล นำรายได้เข้าสู่ประเทศและชุมชนจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ในอีกทางหนึ่ง สอดคล้องกับ Sustainable Development Goal ซึ่งเป็นภารกิจด้าน Pride ของ ปตท. ด้วย  โดย กลุ่ม ปตท. ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรม จะนำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ในด้านการแพทย์สำหรับสัตว์ทะเล ซึ่งมีโครงการนำร่องที่ ปตท. ได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานไปแล้ว ประมาณ 1.2 ล้านบาท

- Advertisment -

นายจตุพร บุรุษพัฒน์  อธิบดี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีภารกิจหลักในการศึกษา วิจัย พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงพืชและสัตว์ทะเลหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นที่ป่วยหรือได้รับบาดเจ็บ หากได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกต้องและได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว จะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตได้มากยิ่งขึ้น  โดยผลการดำเนินงานที่   ผ่านมา ในระหว่างปี 2558 – 2560 พบว่ามีการเกยตื้นสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเฉลี่ยปีละ 419 ตัว แบ่งเป็นเต่าทะเล 57% โลมาและวาฬ 38% และพะยูน 5% สาเหตุการเกยตื้นสำหรับเต่าทะเลและพะยูนส่วนใหญ่เกิดจากเครื่องมือประมง    คิดเป็นสัดส่วน 74% และ 89% ตามลำดับ ในขณะที่การเกยตื้นของโลมาและวาฬส่วนใหญ่เกิดจากการป่วยตามธรรมชาติ คิดเป็น 63%  ซึ่งจะพบว่ากลุ่มของเต่าทะเลพบการเกยตื้นมากที่สุด โดยเต่าทะเลที่ได้รับการช่วยเหลือ      บางกลุ่มเป็นเต่าทะเลพิการที่ไม่สามารถดำรงชีวิตในธรรมชาติได้ และจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานในระยะยาว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของโครงการพัฒนานวัตกรรมรยางค์เทียม เพื่อช่วยเหลือเต่าทะเลที่พิการกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง  และยินดีให้ความสนับสนุนทีมนักวิชาการและสัตวแพทย์ที่มีความชำนาญ และการอนุบาลสัตว์ทะเลหายากพิการที่ไม่สามารถปล่อยคืนสู่ทะเลได้

นายสุพัฒนพงษ์   พันธ์มีเชาว์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GC กล่าวว่า GC ไม่หยุดนิ่งในการมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ควบคู่กับการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม      ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักที่ GC ยึดถือเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด และในฐานะที่ GC เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดี จึงได้นำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนานวัตกรรมวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศทางทะเลและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการพิมพ์แบบสามมิติ (3D Printing) พร้อมด้วยนักวิจัยและบุคลากร ผู้มีความรู้ความสามารถของ GC มาร่วมวิจัยและคิดค้นกายอุปกรณ์เทียมที่เหมาะสมสำหรับสัตว์ทะเลใน “โครงการการวิจัยและพัฒนากายอุปกรณ์เพื่อสัตว์ทะเลพิการ”  โดยเฉพาะสัตว์ทะเลที่หายากและใกล้สูญพันธุ์อย่างเต่าทะเลที่พิการและไม่สามารถปรับตัวเพื่อดำรงชีวิตตามธรรมชาติได้ จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์และให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามธรรมชาติ อีกทั้งช่วยพัฒนาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเลของประเทศไทยให้มีความสมบูรณ์อย่างยั่งยืน

ศ.ดร. บัณฑิต  เอื้ออาภรณ์  อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนโยบายในการ “สร้างคน สร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรม สร้างเสริมสังคมไทย ก้าวไกลในสังคมโลก”  สำหรับความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้ถือได้ว่าเป็นการสร้างนวัตกรรมสำหรับสัตว์พิการ อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างให้เต่าทะเลพิการ ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถดำรงชีพได้ตามปกติ   โดยจากปัญหาทางด้านสวัสดิภาพของเต่าทะเลพิการตามที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันนั้น ทางศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ขอรับการสนับสนุนจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ทางด้านทุนทรัพย์ และเทคโนโลยี รวมถึงได้รับความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการทางด้านสัตวแพทย์ ทางด้านชีวกลศาสตร์ รวมถึงความรู้ทางด้านชีวการแพทย์ มาผสมผสานกับเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติที่ทันสมัย และวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของบริษัท พีทีที  โกลบอล  เคมิคอล  จำกัด (มหาชน) เพื่อสร้างรยางค์เต่าทะเลเทียมที่มีประสิทธิภาพสูงสุด จากการประสานความร่วมมือ เพื่อนำความรู้ควบคู่กับเทคโนโลยีก่อให้เกิดเป็นสุดยอดนวัตกรรมขาเทียมของเต่าทะเล Extreme plus Sea turtle prostheses

การลงนามใน “บันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือการวิจัยและพัฒนากายอุปกรณ์เพื่อสัตว์ทะเลพิการ” ครั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินงาน  5  ปี   ซึ่ง ปตท.  จะร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  จีซี  และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ในการพัฒนา วิจัย รวมทั้งออกแบบกายอุปกรณ์เพื่อสัตว์ทะเลพิการ  มุ่งเน้นความร่วมมือในการดำเนินงาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการ พร้อมทั้ง ให้การสนับสนุนด้านคำปรึกษา ด้านวิชาการและเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างกัน  โดยมีการนำหลักชีวกลศาสตร์ ร่วมกับการใช้วัสดุที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  ผนวกกับนวัตกรรมเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ มาประยุกต์ใช้ในงานชีวการแพทย์  เพื่อช่วยให้สัตว์ทะเลพิการสามารถดำรงชีพได้ตามปกติอีกครั้ง  และยังถือเป็นการพัฒนาเทคนิค     การใช้รยางค์เทียมเพื่อการรักษาสัตว์ทะเลหายากได้ต่อไปในอนาคต

Advertisment