วงสัมมนากฟผ. สกว.ชี้ โซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้ามาแรง นักวิจัยต้องตามให้ทัน

1168
- Advertisment-

เวทีสัมมนา กฟผ.-สกว. ชี้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์  ระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มาแรง โดย EV จะก้าวหน้าไปถึงการชาร์จแบบไร้สายและรถยนต์ไร้คนขับจะมาแทนรถแท็กซี่ ในขณะที่ กฟผ.เตรียมพร้อมปรับตัวรองรับผู้บริโภคที่หันมาผลิตไฟฟ้าใช้เอง เน้นวิจัยให้โรงไฟฟ้าเก่ายืดหยุ่น เดินเครื่องผลิตได้รวดเร็วตามความต้องการใช้ไฟฟ้าจริง ส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ควัก 29,087 ล้านบาท วางแผนธุรกิจ 5 ปี รับนวัตกรรมไฟฟ้า

วันนี้( 22 พ.ย. 2561) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ได้จัดสัมมนา “วิจัยพลังงานสู่การใช้งานจริงอย่างยั่งยืน ปี4” ภายใต้หัวข้อ “การพลิกโฉมไฟฟ้าไทย”โดยได้รับความสนใจจากบุคคลในแวดวงพลังงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมรับฟัง

รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภชาติ จงไพบูลย์พัฒนะ ผู้ประสานงานโครงการร่วมสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา กฟผ-สกว. กล่าวในงานสัมมนาฯ ว่า ในอนาคตอันใกล้การใช้ไฟฟ้าจะเติบโตแบบเชื่อมโยงกับการเติบโตขึ้นของนวัตกรรมเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ซึ่งนักวิจัยจำเป็นต้องเดินตามกระแสโลกให้ทัน  ซึ่งการวิจัยจะปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบการรวมตัวเป็นทีมแบบผสมผสานความสามารถ และต้องร่วมมือกับภาครัฐ และผู้ประกอบการที่ใช้งานนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยให้เกิดการนำผลวิจัยมาใช้ได้จริง

- Advertisment -

โดยทิศทางนวัตกรรมในอนาคตที่โดดเด่น คือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์  หรือ โซลาร์เซลล์), ระบบแบตเตอรี่สำรอง หรือ Energy Storage System เทคโนโลยี Block chain รวมถึงกรณีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีรถ EV เริ่มวิจัยก้าวหน้าไปมาก โดยสำนัก Bloomberg NEF คาดการณ์ว่ารถ EV ทั่วโลกจะมี 11 ล้านคันในปี ค.ศ. 2025 และจะสูงถึง 30 ล้านคันในปี ค.ศ. 2030 จากปี ค.ศ. 2017 ที่มีอยู่ 1.1 ล้านคัน

ทั้งนี้เทคโนโลยีการประจุไฟฟ้ารถ EV (ชาร์จ) มีการวิจัยทดลองใช้การชาร์จไฟฟ้าแบบ Wireless EV Charging ซึ่งเป็นการชาร์จแบบไร้สาย โดยในอนาคตอาจติด Wireless บนพื้นทางด่วน เมื่อขับรถผ่านจะเกิดการชาร์จอัตโนมัติ หรือ เพียงไปจอดใกล้ๆ ก็สามารถชาร์จไฟฟ้าให้รถ EV ได้ทันที

นอกจากนี้ความเป็นเจ้าของรถยนต์จะหมดไป เนื่องจากเทคโนโลยีจะก้าวไปถึง รถยนต์ EV ไร้คนขับ (Driverless Cars) ซึ่งจะมาทดแทนรถแท็กซี่ โดยใช้มือถือกดเรียกรถ EV สาธารณะที่จอดไว้ เพื่อมาให้บริการได้ หรือเกิดระบบรถ EV แบบ Hub car รถยนต์สาธารณะที่จอดไว้และประชาชนสามารถขับออกไปใช้ได้เลยในระยะทางไม่ไกล ซึ่งขณะนี้บริษัทค่ายรถยนต์บางแห่งเริ่มศึกษาระบบดังกล่าวเพื่อเตรียมปรับรูปแบบรองรับธุรกิจในอนาคตแล้ว

รวมทั้งโลกกำลังมีการวิจัย Hyperloop&Loop  ซึ่งเป็นรถยนต์ที่วิ่งในอุโมงค์มีความเร็วกว่าเครื่องบิน ซึ่งไม่ต้องขับ ดังนั้นไทยต้องเร่งพัฒนาทั้งด้าน Big Data และ Internet of Thing เพื่อให้ไทยหลุดพ้นจากประเทศผู้มีรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่หลุดพ้นจากความยากจนด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มจากเทคโนโลยี

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช เลขาธิการ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ทิศทางรถEV เกิดขึ้นแน่นอน แต่มีความเป็นห่วงผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยที่มีกว่า 3 หมื่นรายจะได้รับผลกระทบ ซึ่งหากรัฐจะผลักดันเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วจำเป็นต้องคำนึงถึงกลุ่มธุรกิจดังกล่าวด้วย เพื่อให้เติบโตไปพร้อมกัน ทั้งนี้คาดว่ารถยนต์EV จากจีนอาจจะเข้ามายังได้ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าได้ ซึ่งยังมีเวลาที่ไทยจะเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ดังกล่าว

ในขณะที่ด้านของกิจการไฟฟ้า นายภัทรพงศ์ เทพา ผู้ช่วยผู้อาวุโส การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวในงานสัมมนาว่า ในอนาคตผู้ผลิตไฟฟ้าจะมีมากขึ้นและเกิดการซื้อขายกันเองด้วย รูปแบบการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ดิจิทัลมากขึ้น  ซึ่งจะส่งผลให้กฟผ.มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่ลดลง จากปัจจุบัน ที่มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเหลือเพียง 35-36% -ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ  โดยจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนนำนโยบายด้านพลังงานของประเทศไปแล้ว

ทั้งนี้ กฟผ. ตระหนักในเรื่องดังกล่าวและกำลังอยู่ระหว่างปรับตัว โดยงานวิจัยจะถูกนำมาช่วยในด้านพัฒนาโรงไฟฟ้าเก่าของ กฟผ.ให้สามารถยืดหยุ่น สามารถเร่งเครื่องผลิตไฟฟ้าในช่วงที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม กฟผ. มีความกังวลว่าถ้าพลังงานทดแทนมีมากขึ้นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และสายส่งไฟฟ้าจะดำเนินการให้ยืดหยุ่นได้อย่างไร และภาพรวมทางธุรกิจของ กฟผ.จะเป็นอย่างไร  โดยยืนยันว่า กฟผ. มีหน้าที่ต้องดูแลความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าประเทศ ดังนั้นการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีไฟฟ้าจะต้องก้าวไปอย่างยั่งยืน สมดุลทั้งด้านราคาไฟฟ้าที่ต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และไฟฟ้าต้องมีความมั่นคงด้วย

ส่วนนายชาญณรงค์ สอนดิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) กล่าวว่า PEA ได้ปรับเปลี่ยนทิศทางการลงทุนเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีไฟฟ้าแล้ว โดยจัดทำแผนงาน PEA DX ระหว่างปี 2561-2565 ภายในกรอบการลงทุน 29,087 ล้านบาท แบ่งเป็นการจัดทำดิจิตอลแพลตฟอร์ม 8,332 ล้านบาท ยกระดับระบบไฟฟ้าให้เป็นเลิศด้วยดิจิทัล 15,226 ล้านบาท ปรับเปลี่ยนสู่องค์กรสมัยใหม่ 4,185 ล้านบาท เสริมสร้างบุคลากรแห่งอนาคต 504 ล้าบาท และเชื่อมโยงลูกค้าด้วยเทคโนโลยี 840 ล้านบาท

นอกจากนี้ 3 การไฟฟ้า (PEA, กฟผ. และการไฟฟ้านครหลวงหรือ กฟน.) ยังมีความร่วมมือศึกษาการจัดทำแพลตฟอร์มกลางของประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันของผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยทั่วประเทศ

นายนิโรจน์ อัครปัญญาวิทย์ Vice President ฝ่ายเทคนิคพลังงานประยุกต์และเครื่องยนต์ทดสอบ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า เมื่อต้นปี 2561 ปตท.ได้จัดตั้งหน่วยธุรกิจเทคโนโลยีขึ้นมา เพื่อวางกลยุทธ์ศึกษาต้นแบบธุรกิจใหม่ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าตลอดห่วงโซ่ธุรกิจไฟฟ้า ทั้งนี้ทิศทางวิจัยและพัฒนาของ ปตท.จะเน้น 3 E คือ 1. Environmental Friendหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2.Energy Management การวิจัยจัดการพลังงานให้มีต้นทุนที่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้และ 3. Energy Efficiency การเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

อย่างไรก็ตามสถาบันนวัตกรรมของ ปตท. จะเลือกการพัฒนาหลัก 2 ด้านหลักคือ Energy Storage System และ โซลาร์เซลล์ ซึ่งจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกผลิตภัณฑ์ทั้งอาคาร ภาคขนส่งและไฟฟ้า ซึ่งแนวโน้มจะมีการพัฒนาโซลาร์เซลล์เป็นวัสดุโปร่งแสงโค้งงอได้ ซึ่งอาจติดเป็นกระจกรถยนต์และสามารถชาร์จไฟฟ้ารถ EV ได้ด้วย

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG กล่าวว่า กรณีที่ผู้บริโภคหันมาผลิตไฟฟ้าใช้เองและขายส่วนเกินให้กับเพื่อนบ้านนั้น เป็นทิศทางที่กำลังเกิดขึ้น และส่งผลให้ประเทศเกิดปัญหาความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ไม่เกิดช่วงกลางวันแต่ไปเกิดช่วงกลางคืนแทน โดยไม่มีข้อมูลผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยกลุ่มดังกล่าว ซึ่งภาครัฐกำลังพยายามเก็บข้อมูลดังกล่าว ซึ่งเห็นว่าระบบบล็อกเชน จะมาแก้ปัญหาดังกล่าว ทำให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าเข้าระบบมากขึ้นและทราบจำนวนรวมทั้งปริมาณไฟฟ้าที่เกิดขึ้นกับกลุ่มดังกล่าว เพื่อนำมาเป็นข้อมูลวางแผนงานต่างๆของภาครัฐได้ต่อไป

อย่างไรก็ตามขอฝากนักวิจัยให้มองไปถึงอนาคตระยะยาวที่จะเกิดขยะอิเล็กทรอนิคจำนวนมาก ซึ่งงานวิจัยจะเข้ามาแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด(มหาชน) หรือ EA กล่าวว่า ปัจจุบัน Energy Storage  System ทั่วโลกมี 1,160 โครงการ รวม 193,594เมกะวัตต์แล้ว และถือเป็นสิ่งที่จะมาตอบสนองการสร้างไฟฟ้าให้เกิดความเสถียรได้ในอนาคต นอกจากนี้รัฐบาลควรส่งเสริมให้เกิดการผลิตรถ EV ขึ้นในไทย หากสามารถผลิต Energy Storage  System ได้เองก็ย่อมผลิตรถ EV ได้ทั้งคัน ซึ่งจะทำให้ไทยเติบโตด้านเทคโนโลยีรถ EV ได้รวดเร็ว

นอกจากนี้ปัจจุบันสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำด้านการผลิตและการใช้พลังงานหลัก ด้านก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ของโลก เริ่มปรับตัวไปสู่พลังงานทดแทนและพลังงานนิวเคลียร์ ขณะรัฐบาลไทยมุ่งไปสู่ LNG ซึ่งเป็นที่น่าจับตามองว่าประเทศไทยยังติดอยู่กับอะไรบางอย่าง ขณะที่ผู้ซื้อขายรายใหญ่เริ่มมีแนวทางจะออกห่างจาก LNG

Advertisment