อนุมัติ 1,035 โครงการ วงเงิน 2,066 ล้านบาทใช้เงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานปี 63

3826
- Advertisment-

คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน อนุมัติโครงการที่ขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีงบประมาณ 2563 และได้มีมติอนุมัติโครงการ จำนวน 1,035 โครงการ วงเงินที่ให้การสนับสนุน 2,066 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 16 โครงการวงเงินสนับสนุน 535 ล้านบาท และแผนพลังงานทดแทน อนุมัติทั้งหมด จำนวน 1,019 โครงการ กรอบวงเงินสนับสนุน 1,531ล้านบาท  พร้อมขีดเส้นให้หน่วยงานมาลงนามในหนังสือยืนยันกับ ส.กทอ. ภายในวันที่ 28 กันยายน 2563 นี้

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการที่ขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีงบประมาณ 2563 และได้มีมติอนุมัติโครงการ จำนวน 1,035 โครงการ วงเงินที่ให้การสนับสนุน 2,066 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 แผนงาน ดังนี้

แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อนุมัติทั้งหมด 16 โครงการ กรอบวงเงินสนับสนุน 535 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) กลุ่มงานตามกฎหมาย จำนวน 4 โครงการ (2) กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย เพื่อการพัฒนาและส่งเสริม จำนวน 1 โครงการ (3) กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูล ข่าวสาร จำนวน 5 โครงการ (4) กลุ่มงานพัฒนาบุคลากร จำนวน 2 โครงการ และ (5) กลุ่มงานสนับสนุนลดต้นทุน ยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งแบ่งเป็นโครงการพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก นโยบายพลังงาน
เพื่อทุกคน (Energy for all) จำนวน 2 โครงการ ซึ่งสนับสนุนในรูปแบบเงินก้อน (Block grant) และโครงการทั่วไป จำนวน 2 โครงการ

- Advertisment -

แผนพลังงานทดแทน อนุมัติทั้งหมด จำนวน 1,019 โครงการ กรอบวงเงินสนับสนุน 1,531ล้านบาท ประกอบด้วย (1) กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย เพื่อการพัฒนาและส่งเสริม จำนวน
1 โครงการ (2) กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูล ข่าวสาร จำนวน 4 โครงการ และ (3) กลุ่มงานสนับสนุนลดต้นทุน ยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มเศรษฐกิจฐานรากและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบ่งเป็นโครงการ Energy for all จำนวน 41 โครงการ โดยสนับสนุนในรูปแบบ Block grant และโครงการทั่วไป ซึ่งมี 3 ประเภท คือ โครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร จำนวน 968 โครงการ โครงการระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 1 โครงการ โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับโรงเรียนในชนบท ประเภทไม่มีไฟฟ้า จำนวน 2 โครงการ และโครงการพระราชดำริ จำนวน 2 โครงการ

โดยให้หน่วยงานมาลงนามในหนังสือยืนยันกับ ส.กทอ. ภายในวันที่ 28 กันยายน 2563
หากหน่วยงานใดไม่สามารถมาลงนามได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าว ให้ถือว่าโครงการนั้นเป็นอันยุติการได้รับการสนับสนุน สำหรับวันเริ่มต้นโครงการให้ถือเป็นวันที่ 29 กันยายน 2563

รวมถึงที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานผู้ได้รับการสนับสนุนโครงการภายใต้กลุ่มงานสนับสนุนลดต้นทุนฯ ของแผนเพิ่มประสิทธิภาพฯ และแผนพลังงานทดแทน ดำเนินการ จัดส่งเอกสารตามเงื่อนไขการจัดทำข้อเสนอโครงการ ดังนี้ ข้อที่ 1 ข้อมูลด้านผลประหยัด หรือระยะเวลาคืนทุน หรือข้อมูลความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการ (B/C Ratio) ข้อที่ 2 แผนการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจ และข้อที่ 3 แผนการบำรุงรักษา ให้ ส.กทอ. ก่อนลงนามในหนังสือยืนยัน

โครงการผลิตไฟฟ้าเพื่อชุมชนพึ่งพาตนเอง (Off Gird) ทุกโครงการ ให้ผู้ได้รับการสนับสนุนดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ พร้อมจัดส่งหนังสือใบอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ ในโครงการที่ได้รับการจัดสรรจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ให้ ส.กทอ. ภายในวันที่ 15 กันยายน 2563 หรือในวันที่มาลงนามในหนังสือยืนยันกับ ส.กทอ.
ให้ผู้ได้รับการสนับสนุน (จังหวัด) โครงการพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานรากฯ แจ้งมติให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ และดำเนินการลงนามในหนังสือยืนยันพร้อมก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 135 วัน นับจากวันที่ 28 กันยายน 2563 หากไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าโครงการเป็นอันยกเลิก

โครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร จะต้องได้รับการตรวจสอบพื้นที่
ภัยแล้งย้อนหลัง 5 ปี ยืนยันเรื่องความซ้ำซ้อนของผู้ใช้ประโยชน์ พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากสำนักงานพลังงานจังหวัดและต้องได้รับการยืนยันความถูกต้องของเอกสารใบอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาล (นบ.5) จากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ก่อนลงนามในหนังสือยืนยันกับ ส.กทอ.

Advertisment