Dow เดินหน้าพัฒนาครูวิทย์ไทย จัดอบรมออนไลน์ โครงการห้องเรียนเคมีดาว ต่อเนื่องรุ่นที่ 7

900
- Advertisment-

กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) บริษัทชั้นนำด้านแมททีเรียล ไซแอนซ์ (Materials Science) ร่วมกับสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ เดินหน้าส่งเสริมศักยภาพครูวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจัดเวิร์คช้อปออนไลน์ “การอบรมเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน โครงการห้องเรียนเคมีดาว รุ่นที่ 7” ให้กับครูวิทยาศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษาทั่วประเทศจำนวนกว่า 200 คน มุ่งขยายผลและประยุกต์เทคนิคการทดลองที่มีความปลอดภัย ประหยัด ใช้สารเคมีน้อย สู่ชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นของเด็กไทยทั่วประเทศ โดยมีครูต้นแบบของโครงการฯ ในรุ่นก่อน ๆ ร่วมถ่ายทอดเทคนิคการสอนที่สร้างการมีส่วนร่วมของนักเรียนผ่านการลงมือปฎิบัติจริงด้วยชุดการทดลองเคมีแบบย่อส่วนต่อเนื่องเป็นปีที่ 8

“การศึกษาเป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญ ถึงแม้ว่าเราจะต้องเผชิญกับวิกฤตการระบาดของโรค COVID-19 แต่การพัฒนาความรู้ของคุณครูและการเรียนรู้ของเยาวชนก็ยังเป็นเรื่องสำคัญที่เราไม่สามารถละเลยได้ ในปีนี้เราจึงจัดการอบรมออนไลน์เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการถ่ายทอดและต่อยอดองค์ความรู้ด้านเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนให้แก่ครูไทย อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ครูในต่างจังหวัดได้เข้าร่วมอบรมได้สะดวกมากขึ้น เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปขยายผลต่อให้กับเยาวชนในโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมต่อไป” นายณัฐพงศ์ จิรวัฒนาวรกุล ผู้จัดการแผนกสื่อสารองค์กรและชุมชนสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าว

- Advertisment -

ระบบการเรียนผ่านเทคนิคปฏิบัติการทดลองเคมีแบบย่อส่วน เป็นสื่อการสอนที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในต่างประเทศ ซึ่งหากวงการศึกษาไทยนำเทคนิคนี้มาใช้ จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนเชิงบวกในแง่ของการลดต้นทุนของการใช้สารเคมีและค่าใช้จ่ายลงกว่า 90% ช่วยลดปริมาณของเสียซึ่งสอดคล้องกับกระแสโลกที่ต้องการรักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง ครูก็สามารถสร้างสรรค์โจทย์การทดลองหัวข้อทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดมุมมองการคิดค้นและต่อยอดชุดการทดลองใหม่ ๆ ในชั้นเรียน อันจะกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของนักเรียนและส่งผลต่อความสนใจในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ด้วย

นายพงศกร พรมทา ครูวิทยาศาสตร์จากโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จ.ลพบุรี กล่าวว่า “การทดลองเคมีแบบย่อส่วนจะช่วยลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาลงได้ เพราะนักเรียนในโรงเรียนชนบทก็สามารถทำการทดลองแบบเดียวกันได้แม้ว่าที่โรงเรียนจะขาดแคลนเรื่องของสารเคมีหรืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ การจัดการเรียนรู้แบบให้ความรู้คู่ประสบการณ์จะนำไปสู่การแก้ปัญหาบางอย่างที่นักเรียนสนใจ โดยใช้ความรู้จากวิทยาศาสตร์เข้าไปช่วย ซึ่งจะทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ว่าไม่ใช่เรื่องยากและไกลตัว เมื่อนักเรียนเห็นความสำคัญและสามารถใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ได้จริง นักเรียนก็จะอยากเรียนรู้และพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ โดยที่ครูอย่างเราไม่จำเป็นจะต้องไปสอนเขาตลอดเวลา นั่นเท่ากับว่าเราสามารถสร้างประชากรของประเทศที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตลอดชีวิต”

“ในปีการศึกษานี้ เรามีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ เทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนจึงตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีความกระชับ ใช้เวลาการทดลองสั้นลง นักเรียนสามารถทำโครงงานเคมีได้อย่างปลอดภัยจากที่บ้านด้วยอุปกรณ์พื้นฐาน และยังง่ายต่อการถ่ายวิดีโอผลการทดลองให้นักเรียนร่วมกันวิเคราะห์ ปัจจุบัน การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์นอกจากจะพัฒนาด้านความรู้ทางวิชาการและทักษะปฏิบัติการแล้ว จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ การสร้างนวัตกรรม ซึ่งทักษะเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้เรียนได้มีอิสระในการทดสอบไอเดีย ออกแบบการทดลองเพื่อตอบคำถามข้อสงสัยของตนเอง ซึ่งต้องการความพร้อมและการเข้าถึงอุปกรณ์วิทยาศาสตร์พื้นฐาน ควบคู่กับการดูแลให้คำปรึกษาจากครูหรือผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่” ดร.ดวงแข ศรีคุณ ครูวิทยาศาสตร์จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม กล่าวเสริม

“ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา โครงการห้องเรียนเคมีดาวได้จัดอบรมเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนให้ครูทั่วประเทศและครูในอาเซียนแล้วกว่า 2,200 คน สร้างครูต้นแบบที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนกว่า 90 คนที่ช่วยเผยแพร่ความรู้ให้กับโรงเรียนมากกว่า 900 แห่ง ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการเรียนการสอนแก่เด็กนักเรียนมากกว่า 100,000 คนทั่วประเทศ ในอนาคต เรายังมีแผนงานในการส่งมอบความรู้และนวัตกรรมด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ ผลิตสื่อการเรียนการสอนที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพื่อพัฒนาศักยภาพครูวิทยาศาตร์ไทยและอาเซียนให้ก้าวสู่มาตรฐานระดับโลกต่อไป” ศ.ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ ผู้อำนวยการโครงการห้องเรียนเคมีดาว กล่าวทิ้งท้าย

Advertisment