ซีอีโอปตท.คนที่10 “ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” เริ่มงานวันแรก โพสต์คลิปความยาว 7นาที สื่อความกับฝ่ายบริหารและพนักงานในองค์กร มั่นใจกลุ่มปตท.ยังแข็งแกร่งแม้จะเจอผลกระทบแบบ Double Effect ทั้งวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลให้การขยายตัวเศรษฐกิจโลกและไทย ติดลบ และราคาน้ำมันที่ตกต่ำ แต่เชื่อว่าในไตรมาสที่ 3และ4 จะปรับตัวดีขึ้น โดยทั้งกลุ่มยังมีศักยภาพในการลงทุนโครงการใหม่ต่อเนื่องในระยะ5ปี กว่า 1.5 ล้านล้านบาท และยังได้รับการประเมินเครดิต เรทติ้ง BBB+ ซึ่งเป็นระดับ Investment Grade พร้อมจัดตั้ง PTT Group Vital Center เพื่อที่จะดูแลและบริหารจัดการองค์กรตามแนว 4 R คือ Resilience Restart Reimagination และ Reform ที่จะมีการจัดโครงสร้างองค์กร รูปแบบธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคต พร้อมรองรับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดแบบไม่คาดคิด เผยความท้าทายในบทบาทซีอีโอ ด้วยแนวคิด PTT by PTT หรือ Powering Thailand’s Transformation หรือ PTT ที่มุ่งหวังทำให้กลุ่มปตท. เป็นองค์กรด้านพลังงานของประเทศไทย ที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ทุกภาคส่วน ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ พัฒนาสังคม และคุณภาพชีวิตของคนไทย
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ในวันนี้ (13 พ.ค.2563 ) ซึ่งเป็นวันแรกของการทำงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) คนที่ 10 ของนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ซีอีโอปตท.คนใหม่ ได้มีการบันทึกคลิปความยาว 7 นาทีเศษ เพื่อสื่อสารกับฝ่ายบริหารและพนักงานในองค์กร ปตท. โดยมีสาระสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายและการปรับตัวขององค์กรท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด -19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งโลก ซึ่ง International Monetary Fund –IMF ได้ประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก หรือ GDP Growth ในปี 2563 นี้ ว่า จะติดลบ 3.3% โดย สหรัฐอเมริกา ติดลบ 5.9% ยุโรปติดลบ 7.5% ส่วนไทยที่โครงสร้างเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการส่งออก และ การท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูงจะติดลบ 6.6%
อย่างไรก็ตามในมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังประเมินว่า GDP ของไทยในปีนี้ น่าจะติดลบ5.3 % ซึ่งถือเป็นความความโชคดีที่ไทยมีระบบสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นมืออาชีพ ทำให้ได้รับผลกระทบน้อยลง
ทั้งนี้นายอรรถพล ได้เน้นย้ำกับพนักงานของปตท.ว่าถึงแม้รัฐจะผ่อนคลายมาตรการต่างๆลง แต่พนักงานปตท.ทุกคน ยังต้องเคร่งครัดกับการดูแลตัวเองตามมาตรการรัฐ ในเรื่องการรักษาระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัย ดูแลเรื่องความสะอาด เพื่อเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้ โควิด-19 เกิดการระบาดซ้ำ
นายอรรถพล กล่าวถึงผลกระทบที่ปตท.ได้รับว่า เป็น Double Effect โดยนอกจากจะมาจากเรื่องของโควิด-19 แล้วยังมีเรื่องของราคาน้ำมันที่ตกต่ำด้วย อย่างไรก็ตามเชื่อว่าผลกระทบของปตท.จะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 1 และ 2 นี้เท่านั้น แต่ไตรมาสที่ 3 และ 4 ธุรกิจน่าจะปรับตัวดีขึ้น
โดยในส่วนของการปรับตัวรองรับสถานการณ์และลดผลกระทบของ ปตท.นั้น ได้มีการจัดตั้ง PTT Group Vital Center ขึ้นมา เพื่อที่จะดูแลและบริหารจัดการในช่วงนี้ รวมทั้งการวางแผนไปข้างหน้า โดยการบริหารจัดการจะดำเนินการตามหลัก 4 R ซึ่งประกอบด้วย
1 Resillience การสร้างความยืดหยุ่นและการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สร้างความปลอดภัยให้พนักงาน ประเมินสุขภาพองค์กรโดยจัดทำ Stress tests ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น จัดลำดับความสำคัญโครงการลงทุนของ ปตท. จัดทำ Group optimization ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ทั้งValue Chain และการรักษาสภาพคล่องขององค์กร
2.Restart เตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ นำพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า กลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด รักษาความสามารถในการแข่งขันของกลุ่ม ปตท.ไว้ให้ได้
3.Reimagination การเตรียมความพร้อมที่จะออกแบบธุรกิจให้รองรับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่จะเป็น Next Normal ทั้งธุรกิจ ต้นน้ำ ปลายน้ำ และ New S Curve
- Reform จะต้องมีการปรับเปลี่ยน จัดโครงสร้างองค์กร รูปแบบธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคตพร้อมรองรับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นแบบไม่คาดคิดได้ทุกเมื่อ
นายอรรถพล ยังกล่าวถึงการประเมินสถานภาพองค์กร ปตท.โดยการทำ Stress Tests เพื่อให้พนักงานทุกคนมีความมั่นใจว่าองค์กร ปตท.ยังมีความเเข็งแกร่ง โดยในกรณีที่แย่ที่สุด ในปีนี้ ผลประกอบการโดยรวมของ ปตท.จะยังเป็นบวก โดยขีดความสามารถในการลงทุนในปีนี้ของทั้งกลุ่ม ปตท.จะอยู่ที่ประมาณ1.4 แสนล้านบาท และยังมีศักยภาพที่จะลงทุนต่อเนื่องไปอีก 5 ปี ในธุรกิจใหม่ๆ อีกประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท อีกทั้งสถาบันเครดิตทางการเงินได้เข้ามาประเมินแล้วให้เครดิต เรทติ้ง กลุ่ม ปตท. ที่ BBB+ ซึ่งถือว่ายังอยู่ใน Investment Grade
นอกจากนี้นายอรรถพล ยังสื่อความกับพนักงาน ถึงแนวคิดที่ให้ไว้กับคณะกรรมการในตอนที่คัดสรรตำแหน่งซีอีโอ ปตท.ก็คือแนวคิดที่เรียกว่า Powering Thailand’s Transformation หรือ PTT โดยมีความมุ่งหวังที่จะทำให้กลุ่ม ปตท. เป็นองค์กรด้านพลังงานของประเทศไทย ที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ทุกภาคส่วน ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ พัฒนาสังคม และคุณภาพชีวิตของคนไทย
โดยใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า PTT หรือ PTT by PTT ซึ่ง P คือ Partnership & Platform เน้นการดำเนินธุรกิจด้วยการสร้างพันธมิตร และการสร้างธุรกิจของ ปตท.ให้มีลักษณะเป็นแพลตฟอร์ม มากกว่าการเป็นผู้ผลิตสินค้าหรือจำหน่ายสินค้า โดย ปตท.จะดึงพันธมิตรที่มี knowhow จากต่างประเทศ เน้นความร่วมมือทั้งรัฐวิสาหกิจ เอกชน ผู้ประกอบการไทย เอ็สเอ็มอี สร้าง New Business Model และ New Eco system ร่วมกัน
T คือ Technology for all ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่าง โนว์ฮาว นวัตกรรม และดิจิทัล ทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร ใช้ในทุกมิติการดำเนินงานทั้งการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ การบริหารจัดการองค์กร การขับเคลื่อนสู่ภายนอก สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม
และ T ตัวสุดท้ายคือ Transparency สร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ พัฒนาธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน สำหรับยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานของแต่ละหน่วยธุรกิจของปตท. ยังเน้นการสร้างความแข็งแกร่งให้หน่วยธุรกิจหลัก สร้างความเติบโตในหน่วยธุรกิจต่อเนื่อง ผลักดันให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ให้เป็นรูปธรรมให้ได้