ส่องสื่อท้องถิ่นระดมพลังคิด “แปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า” ทางเลือกช่วยลดขยะชุมชนอย่างยั่งยืน      

806
- Advertisment-

สื่อมวลชนท้องถิ่น ร่วมเป็นเครือข่ายส่งเสริมความรู้และความเข้าใจ เพื่อเปลี่ยนมุมมองชุมชนท้องถิ่นที่มีต่อ “พลังงานไฟฟ้าจากขยะ” อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในการช่วยลดปัญหาขยะอย่างยั่งยืน หลังเข้าร่วมศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF) บริษัท เอวา แกรนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จังหวัดพิจิตร ซึ่งมีกระบวนการจัดการขยะโดยการแปรรูปเป็นพลังงาน หรือ Waste to Energy อย่างเป็นระบบและควบคุมปัญหามลพิษจากการผลิตกระแสไฟฟ้า   

จริงอยู่.. ไฟฟ้าในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ยังเพียงพอใช้แม้คนจะเพิ่มขึ้น แต่คำถามก็คือ เมื่อ ”คนเพิ่ม..ขยะเพียบ” มีพื้นที่อยู่อย่างจำกัด ขยะที่เพิ่มขึ้นจะทิ้งที่ไหน

ฝัง… ย่อยยาก

- Advertisment -

เผา… ซ้ำเติมปัญหาฝุ่นและควันพิษ

คนแม่สอด… กลัวไหม อยากได้หรือเปล่า กับแนวคิด “แปลงมลพิษจากขยะ เป็นพลังงานไฟฟ้า”

ข้อความเหล่านี้ เป็นผลงานสร้างสรรค์คอนเทนต์ในรูปแบบคลิปวิดีโอของสื่อมวลชนท้องถิ่นในพื้นที่ภาคเหนือที่ผลิตขึ้นในกิจกรรม Workshop ภายใต้ “โครงการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่นต่อพลังงานไฟฟ้าจากขยะ” เมื่อระหว่างวันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรมโมราจ จังหวัดพิษณุโลก ดำเนินการโดยศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อกิจการตามมาตรา 97 (5) ปีงบประมาณ 2562 ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)

โดยเป็นผลงานที่ชนะการประกวดสร้างสรรค์ผลงานโดดเด่น จากผลคะแนนสูงสุดจากการตัดสินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย รศ.ดร.สุระชัย ชูผกา อาจารย์คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง, คุณวัชรพงศ์ ทองรุ่ง บรรณาธิการบริหาร ศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center – ENC และคุณสุมนา วิสารทสกุล วิทยากรกระบวนการด้านการมีส่วนร่วม

สุมนา วิสารทสกุล วิทยากรกระบวนการด้านการมีส่วนร่วม (ซ้าย), รศ.ดร.สุระชัย ชูผกา อาจารย์คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง (กลาง) และ วัชรพงศ์ ทองรุ่ง บรรณาธิการบริหาร ศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center – ENC (ขวา)

เนื้อหาคลิปวิดีโอ อธิบายการผลิตพลังงานจากขยะ หรือ Waste to Energy คือการพลิกวิกฤติให้กลายเป็นโอกาส นำขยะในชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ควบคุมความร้อนด้วยอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 850 องศาฯ (ขยะอุตสาหกรรม) หรือประมาณ 1,000 องศาฯ (ขยะทั่วไปเนื่องจากความชื้นสูง) ซึ่งมีข้อดีคือการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ไม่ทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง เมื่อเผาแล้วสามารถลดปริมาณขยะจากหมื่นตันให้เหลือเพียง 10 ตัน จึงทำให้ “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ” ได้รับการผลักดันให้เป็นหนึ่งในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ปี 2558 -2579

 

 

ผลงานคลิปวิดีโอดังกล่าวนี้ กลุ่มผู้ชนะการประกวดยังได้เผยแพร่ลงในสื่อโซเชียลมีเดีย แฟนเพจเฟซบุ๊ก “ข่าว สวท.แม่สอด” พร้อมกับทิ้งคำถามให้ “คนแม่สอด” ร่วมคิดและแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับการจัดการขยะที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ว่าจะมีทางเลือกหรือข้อเสนอ อย่างไร เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของชุมชนที่มีต่อโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ… ซึ่งยังคงวิตกกังวลในเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นกลิ่น น้ำ และอากาศ

ลิงก์คลิปวิดีโอ

https://www.facebook.com/908789815933873/videos/762677070923274/?_rdc=1&_rdr

Advertisment