กัลฟ์สยบข่าวลือ ยืนยันให้ปตท.จัดหาก๊าซป้อนโรงไฟฟ้าทั้งIPPและSPPตามสัญญา

1502
cof
- Advertisment-

ซีอีโอกัลฟ์ “สารัชถ์ รัตนาวดี” สยบข่าวลือยืนยันปฏิบัติตามสัญญา ให้ปตท.เป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติทั้งโรงไฟฟ้า IPP 5,000 เมกะวัตต์และโครงการSPP ที่มีการลงนามกันไว้แล้ว ในขณะที่แสดงความสนใจเข้าเป็นพันธมิตรกับ ราช กรุ๊ป ในโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 1,400เมกะวัตต์

นายสารัชถ์ รัตนาวดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือGULF  ตอบคำถามผู้สื่อข่าวภายหลังพิธีลงนามสัญญาเงินกู้ในโครงการโรงไฟฟ้า กัลฟ์ ปลวกแดง  ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 2,650 เมกะวัตต์  เมื่อวันที่ 18ก.พ.2562 ว่า ทั้งโครงการIPP ของบริษัท กัลฟ์ พีดี จำกัด ที่อ.ปลวกแดง จ.ระยอง และโครงการ GSRC ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 2,650 เมกะวัตต์ ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 1 อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี  รวมทั้งโรงไฟฟ้าSPPที่ได้มีการลงนามในสัญญาให้ บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติให้นั้น  จะต้องเป็นไปตามสัญญา  โดยในอนาคตกัลฟ์จะไม่มีการนำเข้าLNG ในรูปspot มาใช้ในโรงไฟฟ้าที่มีสัญญากับปตท.

ทั้งนี้มองว่าแนวโน้มราคาค่าไฟฟ้าน่าจะต่ำลงกว่าปัจจุบัน  เพราะก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)นำเข้า จะมีราคาที่ถูกลงมาก  ซึ่งถือเป็นเรื่องดีสำหรับผู้บริโภค

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าการที่กัลฟ์ ให้ความสนใจทำธุรกิจคลังและการจัดหาLNG  เพราะต้องการที่จะนำเข้าLNG มาใช้ในโรงไฟฟ้าของตัวเอง และอาจขอทบทวนเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซที่ทำไว้กับปตท.

สำหรับการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทย ที่ราช กรุ๊ป กำลังมองหาพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก (โครงการโรงไฟฟ้าหินกอง1และ2) ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ นั้น  นายสารัชถ์ กล่าวว่า บริษัทมีความสนใจที่จะเข้าไปร่วมเป็นพันธมิตร แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับทางราช กรุ๊ป ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ ว่าจะเลือกใครเป็นพันธมิตร โดยอาจจะเป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่น ที่ไม่ใช่กัลฟ์ ก็ได้

ส่วนการขยายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในต่างประเทศนั้น กัลฟ์ ยังคงโฟกัส ไปในประเทศเวียดนาม สปป.ลาว และโอมาน  นอกจากนี้ยังพิจารณาโอกาสการลงทุนในออสเตรเลีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ด้วย  โดยโครงการในต่างประเทศส่วนใหญ่ จะเป็นโครงการที่เกี่่ยวกับพลังงานหมุนเวียน เช่นพลังน้ำ แสงอาทิตย์ และพลังงานลม  ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางกระแสโลก ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสภาวะโลกร้อน

Advertisment