7 กุมภาพันธ์ นี้ ลุ้นนายกรัฐมนตรีเศรษฐา เจรจา OCA โฟกัส พื้นที่พัฒนาร่วมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศ

428
ภาพนายกรัฐมนตรีของไทย เศรษฐา ทวีสิน (ขวา) หารือกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน มาเน็ต ระหว่างการประชุม WEF ที่ ดาวอส เมื่อ 17 ม.ค. 2567 โดย นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มีกำหนดจะมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ 7 ก.พ. 2567 (ขอบคุณภาพจาก FB เศรษฐา ทวีสิน )
- Advertisment-

ปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่าง ไทย-กัมพูชา หรือ Overlapping Claims Area – OCA เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาที่พยายามจะดำเนินการให้มีข้อยุติโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ต่อความมั่นคงทางพลังงานของทั้งสองประเทศ แต่ประเด็นสำคัญที่จะช่วยให้การเจรจาประสบความสำเร็จคือ นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศ จะต้องโฟกัสไปที่เรื่องของการพัฒนาปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อน มากกว่าการคุยเรื่องเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลที่มีความทับซ้อนกัน ซึ่งหาข้อยุติได้ยาก

ในการเดินทางไปเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 เรื่อง OCA นั้น ยังไม่ถูกหยิบขึ้นมาพูดคุยกันบนโต๊ะเจรจา แต่ในการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน มาเน็ต ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ เรื่อง OCA จะเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศจะหารือกัน

โดยกลไกในการเจรจาภายใต้ กรอบ MOU 2544 ( MOU 2001 ) ที่มีคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค ( Joint Technical Committee – JTC ) ไทย-กัมพูชา รวมทั้งคณะทำงานย่อยอีก 2 คณะ คือ คณะทำงานว่าด้วยการกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมทางทะเล มีอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเป็นหัวหน้าคณะ และคณะทำงานเกี่ยวกับระบอบพัฒนาร่วม มีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นหัวหน้าคณะ นั้น ยังถือว่าไม่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ เพราะมีเงื่อนไขใน MOU ที่ระบุให้ทั้งสองประเทศต้องเจรจาเรื่องเส้นแบ่งเขตแดนบริเวณเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ขนาดพื้นที่ 10,000 ตารางกิโลเมตร และด้านใต้เขตพัฒนามีพื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร ที่จะเป็นเขตการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันหรือ Joint Development  Area -JDA ไปพร้อมกันด้วย ไม่สามารถแยกการเจรจาเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้

- Advertisment -
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เคยเสนอความเห็นเรื่อง OCA  ไทย-กัมพูชา ให้คุยเฉพาะประเด็นความร่วมมือในพื้นที่การพัฒนาปิโตรเลียม หรือ Joint Development Area -JDA เท่านั้น

คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เคยเสนอความเห็นเรื่อง OCA  ไทย-กัมพูชา ก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลจะต้องปรับแนวทางการเจรจากับทางกัมพูชา ให้เดินหน้าเฉพาะเรื่องของการเข้าไปใช้ประโยชน์ทางด้านพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนเท่านั้น โดยเสนอรูปแบบการตั้งองค์กรหรือบริษัทร่วมกัน ที่ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาเข้าไปมีหุ้นส่วนและได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศ ไม่ต้องเกี่ยวกับการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดน เนื่องจากการนำเรื่องการเจรจาเพื่อแบ่งเขตแดนไปผูกติดกับการใช้ประโยชน์เรื่องพลังงานที่อยู่ใต้ดิน จะไม่มีทางประสบความสำเร็จเพราะไม่มีประเทศไหนจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดนได้  

ในขณะที่คุณนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ ของไทย ให้สัมภาษณ์รายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ช่อง 30 อสมท (08.40 – 08.56 น.) โดยมีคุณอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ และ คุณดนัย เอกมหาสวัสดิ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ก็ยังเห็นควรให้ยึดกลไกการเจรจาตาม MOU 2544 ที่จะต้องเจรจาเรื่องเส้นแบ่งเขตแดนและพื้นที่พัฒนาร่วมไปพร้อมกัน และเห็นว่าจะเลือกเจรจาเรื่องพื้นที่พัฒนาร่วม และนำปิโตรเลียมมาใช้ก่อน และเจรจาเรื่องเขตแดนไว้ทีหลังไม่ได้ โดยเชื่อว่ารัฐบาลทั้งสองประเทศสามารถที่จะหาข้อยุติร่วมกันได้ในทั้งสองเรื่อง  

ส่วนคุณคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า จะต้องมีการเจรจาเรื่องเส้นแบ่งเขตแดนให้จบเสียก่อน ถึงค่อยมาเจรจาเรื่องการแบ่งผลประโยชน์จากปิโตรเลียม 

พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเล ไทยและกัมพูชา ขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร

โจทย์ที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ต้องตัดสินใจ หากมุ่งเป้าไปที่ความสำเร็จของการเจรจาที่ทั้งสองประเทศ คือทั้งไทยและกัมพูชาต้องการคือ การใช้ประโยชน์จากศักยภาพด้านปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อน ไม่ใช่การแบ่งพื้นที่เขตแดนทางทะเล ว่าฝ่ายใดจะได้พื้นที่มากหรือน้อยกว่ากัน ก็ควรจะต้องให้น้ำหนักความสำคัญกับความเห็นของคุณพีระพันธุ์ มากกว่าคุณนพดล หรือคุณคำนูณ โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปยกเลิก MOU 2544 เพื่อเริ่มนับหนึ่งใหม่ แต่จะยังสามารถใช้กลไกคณะกรรมการร่วมและคณะทำงาน ในการหาข้อยุติร่วมกันได้ ซึ่งถึงแม้ว่าใน MOU จะเขียนไว้ให้เจรจาเรื่องเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเล กับเรื่องพัฒนาปิโตรเลียม ไปพร้อมกัน แต่ก็เป็นการเขียนเอาไว้กว้างๆ ไม่ได้ระบุว่าจะต้องทำทั้งสองเรื่องให้เสร็จพร้อมกัน ดังนั้นการจะเจรจาเฉพาะเรื่องพื้นที่พัฒนาร่วม โดยใช้ JDA ไทย-มาเลเซีย มาเป็นโมเดลต้นแบบ ให้การเจรจามีความก้าวหน้าและสำเร็จไปก่อน ก็ไม่ถือว่าขัดกับ MOU 2544 ที่ทำไว้ในยุคที่พลังงานมีราคาแพง และทั้งไทยและกัมพูชา ต่างประสบปัญหาราคาพลังงานที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเหมือนกัน ความพยายามที่จะนำเอาทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีอยู่ในพื้นที่ OCA มาใช้ประโยชน์ในช่วงเวลาที่ก๊าซธรรมชาติยังมีมูลค่าทางเศรษฐกิจอยู่ จึงถือเป็นทางออกที่จำเป็นของทั้งสองประเทศ และในส่วนของรัฐบาลเศรษฐาจะถูกปักหมุดให้เป็นผลงานที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศ เพราะปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่ OCA นั้น เชื่อว่าจะมีมากพอที่จะช่วยแก้ปัญหาพลังงานราคาแพงให้กับประชาชนได้ในระยะยาว

ในขณะเดียวกัน การลดการนำเข้าพลังงาน และการลงทุนและการจ้างงานที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาแหล่งก๊าซในพื้นที่ OCA จะมีส่วนสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยให้กลับมาเหมือนยุคโชติช่วงชัชวาลได้อีกครั้ง

ภาพของความสำเร็จที่ชี้ไว้ให้เห็นจะอยู่ที่การเลือกแนวทางการเจรจาของนายกรัฐมนตรีเศรษฐาในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ ว่าจะเน้นไปที่เรื่องพลังงาน หรือจะเอาเรื่องการกำหนดเส้นเขตแดนมาเป็นเงื่อนไขล็อคตัวเองนำไปสู่ประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองในที่สุด

Advertisment