ชมรมวิทยาการพลังงานรุ่นใหม่(ชวพม.) ระดมความเห็นเอกชน ตัวแทนวิสาหกิจชุมชน เกี่ยวกับโมเดลโรงไฟฟ้าชุมชน ที่ชุมชนจะได้ประโยชน์ เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณา โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เผยมีศักยภาพสายส่งเพียงพอรองรับโรงไฟฟ้าชุมชน ขนาดต่างๆ ได้กว่า 4,000 เมกะวัตต์ทั่วประเทศ แต่ศักยภาพของเชื้อเพลิงชีวมวลและชีวภาพอาจมีผลิตไฟฟ้าได้ไม่เกิน 800 เมกะวัตต์ แนะรัฐมนตรี 3 กระทรวง ทั้งพลังงาน เกษตร มหาดไทย จับมือผลักดันโครงการให้เป็นรูปธรรม โดยรัฐอุดหนุนค่าไฟฟ้าในรูป Feed in Tariff – FiT ตั้งแต่ 5.22-5.84 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ กฟผ.ห่วงผลกระทบค่าไฟฟ้า ประชาชนต้องรับได้ ส่วนผู้แทนวิสาหกิจชุมชนเสนอโมเดลโรงไฟฟ้าชุมชนขนาดจิ๋ว 50 กิโลวัตต์ในพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ หรือปลายสายส่ง ชุมชนมีขีดความสามารถทำเองได้และควรเป็นเจ้าของทั้ง 100% โดยยืมเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน หรือกองทุนพัฒนาไฟฟ้า 3-6ล้านบาท จ่ายคืนภายใน6ปี
วันที่ 17 ก.ย. 2562 ชมรมวิทยาการพลังงานรุ่นใหม่(ชวพม.) ได้จัดงาน “ชวพม.ชวนคุย ครั้งที่1 ตอน “โรงไฟฟ้าชุมชนประชาชนได้อะไร” เพื่อรวบรวมความเห็นเกี่ยวกับรูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชนที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์ เพื่อสรุปและนำเสนอ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณาดำเนินการต่อไป โดยประเด็นเรื่องโรงไฟฟ้าชุมชน ทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2562 ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว โดยอยู่ในระหว่างจัดทำหลักเกณฑ์รายละเอียดเพื่อนำนโยบายลงสู่การปฏิบัติ โดยมีผู้ร่วมบรรบาย ประกอบด้วย นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA),นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.),นายอาทิตย์ เวชกิจ อดีตนายกสมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย,นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก(SPP)ชีวมวล,นายพรอรัญ สุวรรณพลาย รองประธาน Thai Biogas trade Association,นายรังสฤษฏ์ คุณชัยมัง ประธานมูลนิธิวิสาหกิจพลังงานชุมชน,ผศ.ดร พิสิษฏ์ มณีโชติ รองผู้อำนวยการศูนย์แห่งความเป็นเลิศสมาร์ทซิตี้แห่งเอเชียแปซิฟิก และนายชัชพล ประสพโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด(มหาชน) ซึ่งงานสัมมนาดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้เกี่ยวข้องอย่างคับคั่งเกินกว่า 400 คน
นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) กล่าวว่า รูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชนที่ PEA จัดทำไว้ เป็นรูปแบบการลงทุนที่คล้ายกับบริษัท ไฟฟ้าประชารัฐ จำกัด ซึ่งหน่วยงานรัฐถือหุ้น 40% และบริษัท ชุมชนประชารัฐ ถือหุ้น 60% (บริษัท ชุมชนประชารัฐ แบ่งการถือหุ้น ให้สมาชิกวิสาหกิจชุมชน 24% และเอกชน 36%) ทั้งนี้อาจให้บริษัทในรัฐวิสาหกิจ เช่น บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ PEA เข้าไปร่วมลงทุนในวิสาหกิจชุมชนได้ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวจะทำให้สร้างความยั่งยืนให้โรงไฟฟ้าในระยะยาว
ทั้งนี้จากการศึกษาข้อมูลศักยภาพสายส่งของ PEA พบว่ายังมีขีดความสามารถรองรับปริมาณไฟฟ้าได้ อีกประมาณ 4,000เมกะวัตต์ โดยไม่ต้องลงทุนใหม่ โดยหากโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทชีวมวลและชีวภาพ มีขนาดกำลังการผลิต 2-3เมกะวัตต์ ก็จะรองรับได้กว่า 1,500แห่ง อย่างไรก็ตาม ศักยภาพของเชื้อเพลิงชีวมวลและชีวภาพทั้งประเทศ ประเมินว่า น่าจะเพียงพอที่จะป้อนโรงไฟฟ้าได้ไม่เกิน 800 เมกะวัตต์ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน จำเป็นจะต้องได้รับเงินอุดหนุนค่าไฟฟ้าตามต้นทุนที่เป็นจริงหรือในรูปของ Feed in Tariff ระยะยาว ในอัตรา 5.22-5.84 บาทต่อหน่วย เพื่อให้คุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าในส่วนค่าเอฟที ที่จัดเก็บกับประชาชน 7-8สตางค์ต่อหน่วย แต่ประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ หากเป็นโรงไฟฟ้าขนาด1เมกะวัตต์ รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนหักค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 1-1.6แสนบาทต่อครัวเรือนต่อปี
ด้านนายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า หากค่าไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชุมชนอยู่ระดับ 5 บาทต่อหน่วย จะสูงกว่าโรงไฟฟ้าฐาน เช่น ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่อยู่ประมาณ 2 บาทต่อหน่วย หรือมีส่วนต่างกันถึง 3 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากโรงไฟฟ้าชุมชนผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ 1,000 เมกะวัตต์ และเป็นแบบไฟฟ้าที่มีความสม่ำเสมอ ตามสัญญา(Firm)จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นประมาณ 20 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งก็ต้องถามประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าดูว่าจะยอมรับค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นนี้ได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของโรงไฟฟ้าชุมชน หากสามารถตอบโจทย์ภาพรวมได้ตามที่ทางองค์การสหประชาชาติ(UN) มองว่าจะเป็นวิกฤตในอนาคต คือ 1. น้ำ 2. อาหาร และ3. พลังงาน ก็ถือว่ามีความคุ้มค่าที่จะดำเนินการ
นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก(SPP)ชีวมวล กล่าวว่า การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจะต้องมีกฏหมายรองรับ โดยรูปแบบลงทุนควรแบ่งเป็นชุมชน 30% เอกชน 70% และเชื้อเพลิงต้องไม่ใช้พืชเกษตรที่ได้จากการแปรรูปแล้วเช่น แกลบจากโรงสีข้าว กากอ้อยจากโรงงานน้ำตาล แต่ต้องเน้นใช้จากเศษวัสดุทางการเกษตรที่ไม่เป็นเชิงพาณิชย์มาก่อนเช่น ซังข้าวโพด ใบอ้อย ฟางข้าว ฯลฯ โดยเงินลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 3 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 280 ล้านบาท ซึ่งราคารับซื้อไฟควรเป็นในรูปFiTประมาณ 4.24 บาทต่อหน่วย และอยากให้รัฐทำเป็นโครงการนำร่อง ที่มีการยกเว้นกฏระเบียบ บางข้อ แบบเดียวกับโครงการ sandbox ของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)
นายรังสฤษฏ์ คุณชัยมัง ประธานมูลนิธิวิสาหกิจพลังงานชุมชน กล่าวว่า โรงไฟฟ้าชุมชน ที่เหมาะสมและควรทำก่อนคือพื้นที่ห่างไกลสายส่งไฟฟ้า และไม่มีไฟฟ้าใช้ เช่น บนเกาะ พื้นที่ชุมชนชายขอบ ที่มีอยู่กว่า50,000ครัวเรือน และควรสร้างเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ไม่เกิน50กิโลวัตต์ ซึ่งใช้เงินลงทุนประมาณ 3-6 ล้านบาท โดยชุมชนสามารถที่จะเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าได้เองทั้งหมด 100% ด้วยการยืมเงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า หรือกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมาดำเนินการก่อน และเมื่อขายไฟฟ้าได้ค่อยทยอยชำระคืน ภายในระยะเวลา 6 ปี สำหรับค่าไฟฟ้าFIT4.24 บาทต่อหน่วย และบวกเพิ่มให้อีก 1 บาท รวมเป็น 5.24 บาทต่อหน่วย เพราะเป็นพื้นที่ที่มีต้นทุนค่าขนส่งสูงกว่าพื้นที่ปกติ
นายชัชพล ประสพโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า นโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน โดยใช้หญ้าเนเปียร์ เป็นเชื้อเพลิง ที่บริษัทได้ดำเนินการในเชียงใหม่ และขอนแก่น ถูกพิสูจน์แล้วว่า ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ให้มีรายได้อย่างยั่งยืน แต่รัฐต้องยอมรับว่าจะต้องมีราคารับซื้อไฟฟ้าที่สูงขึ้นเพื่อให้คุ้มค่าต่อการลงทุน เพราะหากรัฐต้องการไฟฟ้าราคาต่ำ ก็ควรไปเน้นลงทุนโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซหรือถ่านหิน แต่ไม่ใช่โรงไฟฟ้าชุมชน