ปตท. ขานรับนโยบายรัฐ ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของภูมิภาคอาเซียน ล่าสุดเตรียมลงนามพันธมิตรจีนรายใหม่อีก1 รายเพื่อศึกษาโอกาสการทำตลาด LNG ที่มีความต้องการสูง ที่เบื้องต้นอาจจะเป็นการขนส่งLNG ด้วยเรือขนส่งLNGขนาดเล็กจาก คลังที่มาบตาพุด ของไทยไปยังประเทศคู่ค้าอื่นๆ
นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่านโยบายรัฐบาลที่ต้องการมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ของภูมิภาคอาเซียนนั้น ปตท.พร้อมสานต่อนโยบายดังกล่าว ซึ่งไทยนับว่าเป็นประเทศที่มีความพร้อมเพราะเป็นผู้ใช้ก๊าซฯรายใหญ่และมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ทั้งสถานีรับ-จ่าย LNG จำนวน 2 แห่ง และตามแผนจะสร้างเพิ่มอีก 1 แห่ง
โดยล่าสุดปตท.ได้ร่วมกับพันธมิตรจีนเพื่อศึกษาการทำตลาด LNG ทางจีนตอนใต้ที่มีความต้องการสูง หลังจากก่อนหน้านี้ได้ลงนามกับพันธมิตรจีน 1 ราย และอยู่ระหว่างจะลงนามร่วมกับพันธมิตรจีนอีก 1 รายเพื่อร่วมศึกษาโอกาสการทำตลาด LNG
“เราลงนามไปแล้วเจ้าหนึ่งเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา และเร็ว ๆ นี้จะลงนามอีก เราพูดเรื่อง opportunity ในการทำธุรกิจก่อนยังไม่ได้พูดเรื่องปริมาณ เป็น opportunity ต่าง ๆ ในการที่จะไปทำตลาดในภูมิภาคและในจีน คือจีนมีความต้องการ LNG สูงมาก ซึ่งจะเป็นการขนส่งทางเรือเข้าไปทางจีนตอนใต้ที่อยู่ใกล้กับเรา”นายวุฒิกร กล่าว
นายวุฒิกร กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการขนส่ง LNG อาจจะเป็นการขนส่งโดยลงเรือขนาดเล็กจากสถานีของไทยไปยังประเทศอื่น โดยปตท.จะใช้เรือเล็กทดสอบระบบนี้ในเร็ว ๆ นี้ จากสถานีมาบตาพุด
ขณะที่การทำตลาด LNG ในพื้นที่กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ,สปป.ลาว ,เมียนมา และเวียดนาม)นั้น เบื้องต้นเห็นว่าการขนส่งทางรถยนต์ก็น่าจะดำเนินการได้ ซึ่งรูปแบบอาจจะเป็นรถโมบายขน LNG ที่มีหน่วยแปรสภาพเป็นก๊าซธรรมชาติ (Regas Unit) เพื่อแปรสภาพในพื้นที่ใช้งาน
นายวุฒิกร กล่าวว่า กลุ่มปตท.ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมพลังงานมาถึง 40 ปี และมีลูกค้าที่ใช้บริการก๊าซฯจำนวนมาก ก็มองเป็นโอกาสที่ทางกลุ่มจะได้เข้าไปดูแลและให้บริการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อย่างกรณีโรงงานลูกค้าอุตสาหกรรมที่ใช้บริการซัพพลายก๊าซฯจากปตท. หากสนใจที่จะต้องการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป กลุ่มปตท.ก็พร้อมที่จะเข้าไปให้บริการในส่วนนี้ได้
นอกจากนี้ ปตท.ยังเตรียมแผนศึกษาการก่อสร้างท่อก๊าซฯใหม่ 2 เส้นทาง เพื่อรองรับการเป็นฮับอาเซียน ได้แก่ โคราช-ขอนแก่น-น้ำพอง และเส้นพระนครใต้-บางปะกง ซึ่งขึ้นอยู่กับกระทรวงพลังงานจะเห็นชอบหรือไม่